ท่ามกลางความวิตกกังวลที่มีต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรวดเร็วในระลอกที่ 3 ทำให้ทุกคนต้องเพิ่มมาตรการป้องกันตัวเองแบบตั้งการ์ดให้มั่น ไม่ต่างกับผู้เลี้ยงสุกรที่ต้องตั้งการ์ดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-Security) เพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ที่สร้างความเสียหายให้หลายฟาร์มทั่วโลกอย่างฉับพลัน
ปัจจุบันหลายฟาร์มได้ยกระดับมาตรการตั้งการ์ดของฟาร์มสุกรอย่างเข้มข้นทั้งฟาร์มเล็กฟาร์มใหญ่ หากพบอาการป่วยผิดปกติในสุกรแม้เพียงสองสามตัว หลายฟาร์มก็ตัดสินใจตัดตอนโดยจำหน่ายสุกรทั้งโรงเรือนก่อนเวลาที่ควรจะเป็น หลายฟาร์มเร่งจำหน่ายสุกรขุนมีชีวิตเร็วกว่าปกติ โดยจำหน่ายที่น้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม/ตัว ซึ่งเดิมทีจำหน่ายที่ประมาณ 100 กิโลกรัม/ตัว หลายฟาร์มหยุดเลี้ยง หยุดซื้อสุกรเข้า จนทำให้ตอนนี้ปริมาณสุกรของไทยทั่วประเทศลดลงจำนวนมากและลดลงอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ได้ไม่ยากนักว่าราคาหมูที่เราซื้อกินกันจะแพงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
แม้ว่าในขณะนี้ราคาเนื้อสุกรที่จำหน่ายตามท้องตลาดยังไม่ปรับราคาขึ้น เนื่องจากผู้แปรรูปรวมถึงโรงเชือดได้เก็บสต๊อกหมูที่มีการเทขายในช่วงก่อนหน้านี้เต็มห้องเย็น และสามารถทยอยออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคได้ในระยะหนึ่ง หากฟาร์มหมูไม่สามารถผลิตสุกรเข้ามาเพิ่มเติมได้ก่อนที่สต๊อกจะหมด ราคาเนื้อหมูจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหวังว่าฟาร์มหมูที่เหลืออยู่จะสามารถดูแลฟาร์มได้อย่างเข้มข้น และกลับมาผลิตสุกรขุนมีชีวิตเข้าสู่ตลาดได้ในเร็ววัน หากไม่เช่นนั้น เราอาจจะได้เห็นราคาหมูปรับตัวสูงขึ้นดังเช่นประเทศจีนที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลจีนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เหตุเพราะวัคซีนสำหรับ ASF ยังไม่สำเร็จ และยังคงเป็นความหวังของวงการหมูทั่วโลกที่ตั้งตารอวัคซีนกันอย่างใจจดใจจ่อ
ไม่ได้มีเพียงโรค ASF ที่ต้องเฝ้าระวัง ประเทศร้อนชื้นอย่างไทยเรายังมี PRRS โรคปากเท้าเปื่อย และโรคอื่นๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสที่จะกลายพันธุ์ เกิดขึ้นมารบกวนสุขภาพสัตว์ เป็นอุปสรรคสำคัญของฟาร์มสุกร ผู้ที่ต้องการอยู่รอดจึงต้องลงทุนวางระบบป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาอาชีพ รักษางาน รักษารายได้ที่จะเลี้ยงครอบครัวรวมถึงลูกน้องที่ดูแลกันมานาน และที่สำคัญที่สุดคือการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
“ต้นทุนการดูแลหมูให้ดี” เป็นต้นทุนที่สูงมากเพื่อผลิตหมูปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีและแข็งแรง การสร้างโรงเรือนระบบปิด การเลือกใช้อาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงระบบป้องกันโรคที่ต้องเข้มงวดทั้งกับสัตว์และแรงงานในฟาร์ม รวมถึงรถขนส่งต่าง ๆ ที่ต้องมีการฆ่าเชื้อ ทั้งรถทั้งคน สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนฟาร์มที่ได้มาตรฐานต้องจ่ายเพื่อผลิตหมูที่ดีมีมาตรฐาน เห็นได้จากราคาหมูแบรนด์ใหญ่ที่มีราคาแพงกว่าหมูเขียงในตลาดทั่วไป
ล่าสุด คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มีมติเห็นชอบให้ฟาร์มสุกรขนาด 500 ตัวขึ้นไป ต้องเข้าสู่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มสุกร (มกษ. 6403) โดยระบุเป็น “มาตรฐานบังคับ” ให้ทุกฟาร์มต้องทำ จะไม่ใช่มาตรฐานสมัครใจอีกต่อไป ฟาร์มสุกรปริมาณ 500 ตัวนี้ ปัจจุบันถือเป็นเกษตรกรรายเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ราว 1.6 แสนราย ที่จะต้องยกระดับมาตรฐานการผลิต โดยมีขอบข่ายการบังคับใช้และระยะเวลาปรับเปลี่ยนเป็น 2 ระยะ แตกต่างกันตามขนาดการเลี้ยงสุกร ดังนี้
1) สุกรขุนตั้งแต่ 1,500 ตัว ขึ้นไป หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน
2) สุกรขุนตั้งแต่ 500–1,499 ตัว หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95–119 ตัว ระยะเวลาปรับเปลี่ยนไม่เกิน 3 เดือน
หมายความว่าฟาร์มทั้งหมดจะต้องลงทุนยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนที่ทุกฟาร์มน้อยใหญ่ต้องแบกรับ และจากนี้ไปภายใน 3 เดือนจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการยกระดับวงการหมูของไทยท่ามกลางวิกฤติรอบด้าน
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ การทำฟาร์มให้ได้มาตรฐานมีต้นทุนและต้นทุนเหล่านั้นสูงมาก จนทำให้หลายฟาร์มตัดสินใจเลิกกิจการในคราวนี้ หลังจากนี้ฟาร์มอิสระจะลดลงจากเดิมอย่างมาก ฟาร์มที่ตัดสินใจดำเนินกิจการต่อ ต้องปรับตัวให้เป็นฟาร์มมาตรฐาน นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตเนื้อหมูให้ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยินดีจ่ายเพิ่มให้กับเนื้อหมูที่สด สะอาด และได้มาตรฐานเพื่ออาหารปลอดภัยที่จะได้รับ แต่ก็ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ยังมีความเต็มใจจ่ายไม่มากนักให้กับเนื้อหมูเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ของดีมีคุณภาพ มีราคาที่ต้องจ่าย
เมื่อผู้ประกอบการฟาร์มต้องยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ไม่ประสบภาวะขาดทุนและสามารถยืนหยัดผ่านวิกฤติครั้งนี้เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ที่ดีต่อไปได้ การผลิตเนื้อหมูปลอดภัยจากทุกฟาร์มมาตรฐานของประเทศไทยเพื่อผู้บริโภคไทย ก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน
โดย : ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์