นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ ปวดหลังเป็นอาการที่พบบ่อย มักเกิดจากการทำงานและหายได้เอง เมื่อหยุดพัก บีบนวดหรือปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน
ปวดหลังเกิดจากหลายอย่างและมีอาการแตกต่างกัน ดังนี้
กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ จากใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นนานซ้ำๆ เช่น นั่งท่าเดิมนานๆ ก้มเงยบ่อยๆ ทำงาน-เล่นกีฬาที่ต้องเอี้ยวตัวซ้ำๆ อาการปวดจะเกิดขณะเคลื่อนไหวใช้กล้ามเนื้อมัดนั้น และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก
ข้อต่ออักเสบ จากการใช้ข้อต่อซ้ำๆ เช่น ก้มเงย บิดตัวไปมา อาการปวดจะเกิดหลังจากได้พักแล้วเริ่มเคลื่อนไหวข้อต่อนั้น พอเคลื่อนไหวสักครู่จะปวดน้อยลง
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จากที่แบก-ยกของหนักผิดท่า จะปวดทันทีขณะก้มยก ต่อมาจะปวดร้าวที่ขา ปวดมากขึ้นเมื่อเดิน และดีขึ้นเมื่อนอนพัก ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับหรืออักเสบนานๆ อาจกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง-ชา
กระดูกสันหลังเสื่อม อายุมากขึ้นข้อต่อเสื่อม หมอนรองเสื่อมทรุดทำให้กระดูกผิดรูป-เคลื่อนตัวทำงานผิดปกติ อาจกดเส้นประสาททำให้ปวดร้าวไปขาได้ มักปวดมากขึ้นถ้าต้องเดินไกลๆ เวลาเดินก้มตัวเล็กน้อยอาจช่วยให้ปวดน้อยลง
เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง เนื้องอกอาจกินกระดูกสันหลังทำให้ปวดกระดูก หรืออาจกดทับเส้นประสาททำให้ปวดร้าวที่ขา ขาชา-อ่อนแรง มักมีอาการขณะนอน เมื่อยืน-เดินจะดีขึ้น
ติดเชื้อกระดูกสันหลัง จะปวดหลังและอาจปวดร้าวที่ขา-ขาอ่อนแรง กระดูกหลังอาจโก่งงอ ถ้าเคาะกระดูกจะเจ็บ
ปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้ออักเสบ ข้อต่อ หมอนรอง-ตัวกระดูก เส้นประสาทผิดปกติ
แต่ถ้าปวดร่วมกับชาเท้า นิ้วเท้าอ่อนแรง กระดกไม่ขึ้น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังมานาน น้ำหนักลด เพลีย
เบื่ออาหาร ปัสสาวะขุ่น หรือมีเม็ดกรวด-ทรายออกทางปัสสาวะ ปัสสาวะสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ กระดูกสันหลังโก่งงอ
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ทั้งนี้ หากนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือเดินทั้งวันแล้วปวดหลังคงไม่ใช่เรื่องแปลก ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ กินอาหารมีประโยชน์เพื่อบำรุงกระดูกสันหลังให้แข็งแรง ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายให้ถูกวิธี
ผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายช้าๆ โดยไม่กระเทือนข้อต่อต่างๆ เช่น กายบริหาร รำมวยจีน ว่ายน้ำ หลีกเลี่ยงก้มยกของหนัก เคลื่อนย้ายของควรใช้วิธีดันดีกว่าดึง จะป้องกัน-บรรเทาปวดหลังได้...