เทศบาลนครตรัง จัดโครงการเชิดชูบุคคลที่ควรบูชา ประจำปี 2564เพื่อเชิดชูเกียรติและรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยว่า เทศบาลนครตรังจัดโครงการเชิดชูบุคคลที่ควรบูชา ประจำปี 2564 ในวันที่ 10 เมษายน 2564 ณ อนุสาวรีย์พระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง ) โครงการเชิดชูบุคคลที่ควรบูชา จัดทำขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติและรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอชิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง เมื่อปี ๒๔๓๓ - ๒๔๔๕ เป็นเวลา ๑๒ ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งได้สร้างคุณงามความดีให้แก่ชาวตรัง จนได้รับสมญานามว่า “เจ้าแห่งการพัฒนา” เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านที่มีคุณูปการในหลายด้านต่อคนตรังและคนไทย โดยเฉพาะผู้นำยางพารามาปลูกที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งได้วางรากฐานการพัฒนาเมืองตรัง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการคมนาคม ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนคนตรังอย่างมากมาย
เทศบาลนครตรังจึงได้จัดโครงการเชิดชูบุคคลที่ควรบูชาขึ้นในวันที่ ๑0 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันอนิจกรรมของท่าน โดยจัดให้มีพิธีบวงสรวง เช่นไหว้ พิธีวางพวงมาลา พิธีทางพระพุทธศาสนา และพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ระลึกคุณงามความดี และคุณประโยชน์ที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งการดูแลทุกข์สุขของประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
สำหรับพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิบี๊ ณ ระนอง) ได้รับการยกย่องให้เป็นข้าราชการดีเด่นในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็น 1 ใน 5 ของนักปกครอง นักบริหารดีเด่นในรอบ 100 ปี ของกระทรวงมหาดไทย เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2400 ที่จังหวัดระนอง เป็นบุตรคนสุดท้ายของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) และนางกิม รู้หนังสือเพียงแค่ลงลายมือชื่อตนเองได้เท่านั้น แต่มีความสามารถพูดได้ถึง 9 ภาษา พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิบี๊ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตรังระหว่างปี 2433-2444 ในปี 2444 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต รับผิดชอบดูแลหัวเมืองตะวันตกตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือไปถึงหัวเมืองมาลายูและปีนัง รัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และชาวตรังทุกสาขาอาชีพจึงร่วมแรงร่วมใจสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งตำหนักผ่อนกาย ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง และให้วันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็น “วันพระยารัษฎา”./////