เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการหารือกับตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข นำโดยมีเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ล่าสุดการเผยแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยก่อนที่นายกฯ จะแถลงได้บอกให้สื่อมวลชนระมัดระวังตัวกันด้วยในช่วงนี้ พร้อมกล่าวว่า ที่ตนเคยพูดไว้ว่าอะไรจะเกิดมันก็เกิด ตราบใดที่เรายังควบคุมไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องแก้ไข เราต้องดำเนินการต่อไป ไม่มีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะจบปุ๊บปั๊บ โดยเฉพาะเชื้อโรค วันนี้ต้องมองไปข้างหน้าว่า ตอนนี้มีโควิดแล้ว ข้างหน้าจะมีอะไรตามมีอีกหรือเปล่าไม่รู้เพราะโรคติดเชื้อมีมาทุก 5-10ปี เป็นเชื้อพันธุ์ใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สรุปว่าวันนี้ นายกฯให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดในช่วงนี้ ทุกครั้งที่มียอดผู้ติดเชื้อมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่เรามาพูดคุยกัน หาความร่วมมือระหว่างกัน วันนี้ได้เชิญทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลในฐานะผู้บริหารในภาพรวม ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวข้องดูแลทางการแพทย์ การอำนวยความสะดวก การดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งวันนี้ได้เชิญทางโรงพยาบาลเอกชนมาด้วย โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้หารือในหลักการสำคัญคือ ทำอย่างไรจะมีวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องไปแก้ไขเรื่องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือองค์การเภสัชกรรม ที่จะนำเข้าได้หรือไม่อย่างไร ถือเป็นวัคซีนทางเลือกเพราะตอนนี้มีวัคซีนเฉพาะที่รัฐบาลนำเข้า ก็ต้องไปหาทางเอาวัคซีนเข้ามาได้อย่างไร เพราะกติกาตอนนี้คือเป็นวัคซีนฉุกเฉินก็ต้องมีการพูดคุยหารือกัน
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการโดยมี นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรมว.สาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีนโควิดทางเลือก สรุปว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่วัคซีนทางเลือกอีกอันหนึ่ง ซึ่งอันนี้จะมีผลต่อโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่มีวัคซีนอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตด้วย ต้องคุยกับเขาเพราะมีหลักการหลายอย่างโดยเฉพาะทางด้านกฎหมายต้องไปหารือกันให้เรียบร้อย
"ผมยินดีที่โรงพยาบาลเอกชนแสดงเจตจำนง จะหาวัคซีนช่วยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไรอยู่แล้ว ซึ่งก็ยังไม่มีการจดทะเบียบอยู่หลายชนิดเหมือนกัน เพราะการนำเข้ายังมีปัญหาเราต้องไปแก้ปลดล็อกตรงนี้เราจะทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่เรา แต่มีปัญหาที่ต่างประเทศด้วย" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เราจะมีแนวทางว่า 1.วัคซีนที่รัฐจัดหา 2.วัคซีนทางเลือกที่เราจะนำเข้ามาใหม่เพิ่มเติมโดยภาคเอกชน ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับอย. และองค์การเภสัชฯ ต้องใช้เวลาสักระยะ 3.ดูระยะเวลาการเข้ามาของวัคซีนเมื่อไหร่อย่างไรเพิ่มเติม ซึ่งเดือนเมย.จะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส เดิมเราเข้ามาแล้ว 3.5 แสนโดส ส่วนเดือนต่อไปก็จะเข้ามาตามลำดับที่กำหนดไว้ เว้นเสียว่ามีปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งเราคุมได้ยากเพราะวันนี้แพร่ระบาดไปทั้งโลก สำคัญที่เราตระหนกก็คือมีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 200-300-400 คนแต่เราควบคุมได้ โดยหาตัวบุคคลที่ติดเชื้อมาตรวจ โดยมาอยู่ในสถานที่ควบคุมหรือสเตทควอรันธีน ซึ่งเตรียมการไว้ทั้งหมด และได้เตรียมการหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เรากังวล แต่เรายืนยันว่านายกฯไม่ทอดทิ้งใคร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สรุปว่าวันนี้เราคุยกันว่าการบริหารจัดการวัคซีน การฉีดวัคซีนทางเอกชนก็พร้อมที่จะฉีดช่วยรัฐบาลในระยะแรก ซึ่งรัฐบาลก็จะจัดสถานที่ฉีดให้ ซึ่งเดิมทำอยู่แล้ว แต่ต่อไปถ้ามีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใหม่ เขาก็สามารถให้บริการของเขาเองได้ อันนี้ก็เป็นกติกาของเรา
และวันหน้าจะมีการกระจายวัคซีนที่เข้ามาจำนวนมาก ไปเพิ่มเติมตามจังหวัดต่างๆ ก็ต้องบริหารจัดการให้ดี หลายคนก็อยากจะฉีดแต่ไม่รู้ไปฉีดที่ไหน ซึ่งวันนี้เรามี แอปหมอพร้อม ก็แจ้งเข้ามา ซึ่งเขาจะนัดไปเองจะนัดไปฉีดที่ไหนอย่างไร เพราะถ้าทุกคนเอาตัวเองว่างโดยให้หมอบริการตามนั้นก็ไม่ได้ต้องช่วยกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนจะฉีดช้าหรือฉีดเร็วไม่ใช่ มันอยู่ที่จำนวนวัคซีนที่เรามีอยู่ หลายประเทศเขาได้มาโดยที่ไม่ต้องซื้อด้วยซ้ำไป เป็นการให้บริจาคมาให้ ประเทศเล็ก ๆ หรือการทดลองเขาก็ส่งให้ทดลองฉีดไปก่อน จะเอาแบบนั้นไหมหล่ะก็ไม่กล้าอีก เพราะมาตรฐานเราดีอยู่แล้ว เราต้องคัดกรองตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราฉีดช้ากว่าเขา ก็วัคซีนมีเท่านี้ อย่างจังหวัดภูเก็ตที่มีการฉีดวัคซีนได้วันละ 14,000 คน ถ้าเต็มเราก็ฉีดได้ถ้ามีวัคซีน ทั้งนี้เราไม่ได้รับการบริจาควัคซีนแต่ ต้องซื้อเองทั้งหมด เพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงต้องมองบริบททั้งหมด
"สิ่งสำคัญต้องบริหารความเข้าใจ บริหารความรู้สึกคนให้ได้ ลดความแตกแยก ลดความแบ่งแยกกลุ่มนู้นกลุ่มนี้ ทุกคนคือประชาชนของประเทศทั้งสิ้น ผมเองก็ใช่ ในมุมหนึ่งผมเป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช่ แต่ผมคือประชาชนไหมล่ะ หมอพวกนี้เป็นประชาชนไหมล่ะ ทุกคนก็มีสิทธิ์เหมือนกันตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องกำหนดขั้นตอน ความเร่งด่วน ความสำคัญต่างๆใครที่อยู่หน้างานก็ต้องดูแลเขาหน่อยทั้งหมอและพยาบาลก็ติดเชื้อกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการ โดยนพ.ปิยะสกล เป็นหัวหน้ากับคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน ที่จะร่วมกันหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมถึงการบริหารการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาต้องขอบคุณสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ช่วยมาตลอด แต่วันนี้หากได้วัคซีนมาเพิ่มก็จะสามารถฉีดได้เร็วขึ้น จากที่รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีน 30 ล้านอาจจะลดลงไป วันนี้เราต้องฉีดวัคซีนให้กับคนทั้งประเทศ 40 ล้านคน แต่หาวัคซีนมาได้ 35 ล้าน ที่เหลืออีก 5 ล้านก็ต้องเอาเข้ามาให้ได้ ซึ่งจะมีการหารือกับเอกชนว่าเอาไปฉีดได้ไหมอย่างไร ซึ่งมันมีกติกาเยอะ กฎหมายก็มี
ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถลดขั้นตอนให้ภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนได้หรือไม่พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพร้อมที่จะลดขั้นตอน แต่ต่างประเทศเขาไม่ลดขั้นตอนให้ เพราะขั้นตอนมีตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ทั้งโลก ปัญหาวันนี้มีว่า ต้นทางเขาจะขายให้เราหรือเปล่า เนื่องจากวันนี้แย่งวัคซีนกันอยู่ประเทศไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น แต่ทุกประเทศมีปัญหากันหมด แม้แต่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนการายใหญ่ของโลกก็ยังมีปัญหา เนื่องจากผลิตไม่ทัน เนื่องจากมีคนติดเชื้อมากขึ้น ประเทศไทยวันนี้ถือว่าเป็นมากกว่าแต่ก่อน มากกว่าที่เคยเป็น สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องไม่เจ็บไม่ตายรักษาให้ได้ และยืนยันว่ายาฟาวิพิราเวียร์ของเรามีเพียงพอ
“อย่าลืมว่า วัคซีนสามารถป้องกันการแพร่ระบาด แต่ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานภายในคน แต่โอกาสที่จะติดเชื้อยังมีอยู่ไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไปอยู่ในที่อโคจรไปทั่ว มันก็ติดอยู่ดี เพราะมันคือไวรัส”นายกฯกล่าว