ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วานนี้(8 เม.ย.) ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน เพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน คดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับเพื่อนๆ รวม 22 คน แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรเป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีร่วมกันชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.63 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ - สนามหลวง โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลย ซึ่งถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวมาศาล ส่วนจำเลยที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลจนครบแล้ว
จำเลยซึ่งถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 จำนวน 13 คน ประกอบด้วย นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, นายณัทพัช อัคฮาด, นายธนชัย เอื้อฤาชา, นายธนพ อัมพะวัติ, นายธานี สะสม, นายภัทรพงศ์ น้อยผาง, นายสิทธิทัศน์ จินดารัตน์, นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์, นายณัฐชนน ไพโรจน์ , นายอรรถพล บัวพัฒน์ และนายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ทยอยเดินทางเข้ามาในห้องพิจารณา
ส่วนจำเลยที่ถูกแจ้งข้อหา ตามมาตรา 112 จำนวน 9 คน โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำตัวจำเลออกจากเรือนจำ ประกอบด้วย นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากทัณฑสถานหญิงกลาง และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข , นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ นายชูเกียรติ แสงวงค์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมทั้ง นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จากเรือนจำพิเศษธนบุรี เข้ามาในห้องพิจารณา โดยญาติไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ ยกเว้นทนายความเท่านั้น
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานจากห้องพิจารณาคดีวานนี้ ว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนตรวจดพยานหลักฐานในคดี จําเลยทั้ง 22 คน ยกเว้น นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จำเลยที่ 3 ได้แถลงความประสงค์ขอถอนทนายความทั้งหมด เพราะไม่สามารถยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่คํานึงสิทธิของจําเลยนี้ได้ นอกจากนี้ อานนท์ นำภา ยังได้เขียนคำแถลงต่อศาลในคดี โดยเป็น “คำแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม” มีข้อความดังนี้
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ จำเลยที่ 2 ประสงค์ขอถอนทนายความทั้งหมด เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.นับแต่จำเลยถูกฟ้อง จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อสู้คดี ถูกกระทำด้วยการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างๆ นานา ทั้งที่จำเลยยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย เพียงเพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 อันเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมปฏิเสธจะให้ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ด้วยการขังเยี่ยงสัตว์ระหว่างพิจารณา ไม่ให้มีโอกาสในการประกันตัว อันเสมือนการพิพากษาไปล่วงหน้าแล้ว กระบวนการยุติธรรมที่เคยดำรงความเป็นธรรม เป็นหลักให้สังคม พอเจอเรื่องมาตรา 112 ก็พากันเสียสติกันไปเสียหมด ปล่อยให้คนที่มีอำนาจนอกกระบวนการยุติธรรมชี้นำ และดำเนินกระบวนการยุติธรรมไปด้วยความกลัว ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากจำเลยยังคงร่วมกระบวนการเช่นนี้ ก็เสมือนสนับสนุนกระบวนการอันวิปริต ซึ่งจำเลยมิอาจยอมรับได้ ,2.การขังเพื่อบังคับให้จำยอมต่อมโนธรรมสำนึกผิดชอบชั่วดี ใช้การจำขังขึงพืดจำเลยในนามกฎหมาย เพื่อให้การต่อสู้เพื่อความถูกต้องถูกทำลาย อันเป็นผลให้สังคมแช่แข็งตัวเองไว้ในความมืดมิดและความกลัว ไม่กล้าที่จะพูดความจริงกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางออกให้สังคม ทุกอย่างถูกทำไปในนามของกฎหมาย จำเลยในนามของคนเรียนกฎหมายไม่อาจจะยอมรับความอัปยศนี้ได้อีกต่อไป 3.ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในนามราษฎรถูกหยิบยกและหล่อหลอมเป็นกระบวนทัศน์อันแหลมคม จนทำให้แสบแก้วหูของคนในสังคมเก่า แต่นั่นคือความจริง และต้องการความกล้าหาญของคนรุ่นเก่าที่ต้องยอมรับ เปิดใจ และพูดคุยอย่างอารยะ แต่จากที่ผ่านมา คนรุ่นเก่ากลับให้กฎหมายปิดปาก แจ้งความดำเนินคดีลูกหลานตนเอง ซ้ำร้ายยังใช้กำลังเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่น การทุบตี ใช้สารพิษฉีดทำร้ายเยาวชนของชาติอย่างเลือดเย็น นี่หรือคือคำว่า “สามัคคี” คำว่า ปรองดอง และคำว่า คนในชาติเดียวกัน
4.ในการดำเนินคดี พวกเราถูกตัดสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ถูกทำให้ห้องพิจารณาเป็นเสมือนคุก ทนายความถูกกดดัน และจำกัดการทำหน้าที่ อันมิใช่กระบวนพิจารณาอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อจำเลยและทนายความได้ประชุมและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า หากร่วมกระบวนพิจารณาต่อไปรังแต่จะสร้างบรรทัดฐานอันบิดเบี้ยว และส่งเสริมกระบวนการอยุติธรรมต่อไป5.ในการพิจารณาประกันตัว จำเลยทราบข่าวว่ามีการแทรกแซงจากศาลฎีกา ซึ่งจำเลยอยากขอให้ศาลส่งเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) พิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ ที่สำคัญที่มีข่าวว่ามีบุคคลภายนอกสั่งศาลได้ จริงหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อความบริสุทธิ์ของศาลเอง และ 6.การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้กฎหมายปิดปาก และทั้งหมดทั้งมวลของความอยุติธรรมในคดีนี้ จำเลยในฐานะคนเรียนกฎหมาย อาชีพทนายความ และในฐานะหนึ่งในราษฎรที่มีจุดยืนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงมิอาจร่วมกระบวนการทั้งหมดต่อไปได้ จำเลยที่มีรายชื่อท้ายคำร้องนี้จึงขอถอนทนายความ และปฏิเสธขบวนการนี้
โดยศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานคดีนี้ต่อไป ในช่วงกลางเดือน พ.ค.64 ยาวไปจนถึงกลางเดือน ธ.ค.64 โดยจะเริ่มการสืบพยานช่วงแรกในวันที่ 19-21 พ.ค.64