ในห้วงที่ม็อบเด็ก ม็อบลุง มุ่งมาจ่อคอหอย รัฐบาล “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หาได้ครั่นคร้ามไม่ โดยเฉพาะม็อบลุง ที่ประกาศไม่ยุ่งกับสถาบัน และไม่ปันใจให้ “3นิ้ว” นั้น ดูทรงแล้วยังไม่ปังเท่าที่ควร แม้ยังเป็นปริศนาให้ต้องควานหากันต่อไปว่า ข้างหลังม็อบเป็นใคร ที่ส่งท่อน้ำเลี้ยงมาให้ ในเมื่อนายใหญ่ เจ้าเก่าดูไบตัดบัวไม่เหลือใยกับ จตุพร พรหมพันธุ์ ไปแล้ว หลังความบาดหมางจากศึกเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่!? กระนั้น ในระหว่างที่ 2 ทัพเข้าประชิดเมือง สิ่งที่ทำให้รัฐบาลอกสั่นขวัญแขวน กลับเป็นโจทก์เก่าเจ้าเดิมคือ “โควิด”ระลอกใหม่ จาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่กลับมาหลอกหลอนประเทศไทยอีกครั้ง โดยรอบนี้พบผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วทุกภาค จนต้องยกระดับมาตรการคุมเข้ม 5 จังหวัด ปรับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ “สีแดง” ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม โดยในพื้นที่ 5 จังหวัดนี้ กำหนดให้ร้านอาหารเปิดบริการไม่เกิน 21.00 น. รับประทานอาหารภายในร้านได้ แต่งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสถานบันเทิง เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. รับประทานอาหารได้ แต่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้สั่งปิดสถานบันเทิง 196 แห่งใน 3 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย วัฒนา และบางแค ตั้งแต่วันที่ 6-19 เม.ย. เป็นเวลา 14 วัน แม้จะยังไม่มีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ในช่วงเวลากลางคืน และจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ยืนยันว่า จะไม่เหวี่ยงแหทั้งหมด เพราะจะทำให้คนไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย โดยจะมีการพิจารณาเป็นพื้นที่ หรือ Bubble & Seal คือ การจำกัดพื้นที่ ไม่ใช่ว่าพบเจอกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง และประกาศเป็นภาพรวมไปทั้งหมด เพราะถ้าทำอย่างนั้น จะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเป็นจุด เป็นรายพื้นที่ ขณะที่“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบค.” ก็เปรยด้วยความหงุดหงิดว่า “เรามีมาตรการที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็หวังว่าในช่วงสงกรานต์เราจะมีความสุขกัน มันก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ ทั้งนี้เพราะอะไร นี่คือคน ต่อให้เรามีมาตรการอะไรก็ตาม ถ้าคนยังไม่ปฏิบัติตาม ยังไม่มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกัน มันก็จะเป็นแบบนี้แหละ” ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานไม่หยุด อาจฉุดบรรยากาศเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่รัฐบาลหวังจะปั้นตัวเลขเศรษฐกิจ ฟื้นการท่องเที่ยวให้เปรี้ยงปร้าง ต้องฝันค้างหงอย กร่อยไปถนัดตา ที่สำคัญ การระบาดรอบนี้กระจายไปทุกแวดวง ไม่เว้นแม้แต่การเมือง กระทบต่อศูนย์กลางการบริหารประเทศ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีที่ลาประชุม เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่มีความเสี่ยง ถึง 8 ราย ประกอบด้วย 1. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 2.พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา 3.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 4.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 6.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 7.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ8.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม ที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คงไม่พ้นกระแสข่าว “รัฐมนตรีเที่ยวผับ” ที่งานเข้า สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอย่างจัง ถูกสื่อบางสำนักรายงานว่าเป็นรัฐมนตรีที่ไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อกับทูตประเทศหนึ่งที่ติดโควิด จนเจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงว่าไม่ได้ไปสถานบันเทิงและโชว์ผลตรวจโควิดเป็นลบ “ในวันดังกล่าวผมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัด และเดินทางกลับกรุงเทพฯ มารับประทานข้าวกับครอบครัว และวิถีชีวิตปกติ คือ ทำงาน ออกกำลังกาย และเลี้ยงหลาน ...ไม่ได้ไปแน่นอน ไม่รู้จัก ไม่เคยไปแม้แต่ครั้งเดียว มั่นใจ 100%...ชัดเจนนะครับ แตะต้องตัวได้ แต่เปิดหน้ากากคุยไม่ได้” สุพัฒนพงษ์ ระบุ ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” ตกเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ กลายเป็นรัฐมนตรีรายแรกของไทยที่ติดเชื้อโควิด โดยเปิดเผยอาการว่า มีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส และเข้ารับการเจาะเลือด ซึ่งผลออกมาเป็นบวก กระนั้น “ศักดิ์สยาม” มั่นใจการติดเชื้อครั้งนี้ มาจากทีมงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดที่กระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม จากเคสของ “ศักดิ์สยาม” กลายเป็นโดมิโน สะเทือนไปทั้ง 2 พรรคการเมืองและการประชุมรัฐสภาด้วย โดยในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาพ.ร.บ.ประชามติ ในระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2564 ส่งผลให้ช่วงเช้าของวันที่ 7 เมษายน ไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ มีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุม 289 คน ขณะที่องค์ประชุมต้องมี 368 คน จึงยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากมีส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งพรรค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.บางส่วนที่ต้องกักตัวดูอาการติดเชื้อโควิด -19 เนื่องจาก 61 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย โดยศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก แสดงความรับผิดชอบหลัง “ศักดิ์สยาม” และทีมงานได้ร่วมกิจกรรมทำบุญ และประชุมพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา และขอกักตัวเป็นเวลา 14วัน ลามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ โดย เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา ประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบขีรีขันธ์ และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช กระนั้น การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน กลับมาดำเนินการต่อไปได้ ในช่วงมีสมาชิก377คน ถือว่าครบองค์ประชุม อย่างไรก็ตาม ใช่จะมีแต่เรื่องร้ายๆ ที่ถาโถมเข้าใส่ เมื่อโควิดอาละวาดฟาดงวงฟาดงาก็กลายเป็นบันได ให้ “ม็อบลุง” หาทางลง ประกาศยุติการชุมนุมไป ก็ถือว่า “บิ๊กตู่”ยังได้อานิสสงส์อยู่บ้าง