กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชี้แนวโน้มการทุจริตโดยตกแต่งงบการเงินเพิ่มสูงขึ้น หวั่นสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ เร่งปรับกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชี พร้อมเสริมสร้างความรู้แก่บุคลากร ป้องกันปัญหาการทุจริตในสหกรณ์
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นางรัตติยา สวัสดี ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 2 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการทุจริตโดยการตกแต่งงบการเงินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการล้มละลายของบริษัทขนาดใหญ่ ในต่างประเทศหลายแห่ง ที่มีสาเหตุเกิดจากการตกแต่งบัญชีในงบการเงิน เพื่อให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น และสร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการ เช่น การตกแต่งการเลื่อนการรับรู้รายได้หรือทยอยการรับรู้ ในปี 2545-2549 บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง เคยใช้วิธีการนี้โดยการเก็บกำไรที่ควรจะรับรู้ในงวดนี้ไว้ในบัญชีหนี้สินแล้วทยอยเอาออกมารับรู้ในงวดถัดๆ ไป เพื่อทำให้ยอดกำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนให้นักวิเคราะห์ตกใจ สุดท้ายโดนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ปรับเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐและต้องแก้ไขงบการเงินใหม่ นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งมูลค่าสินทรัพย์ การตกแต่งรายได้ปลอม การตกแต่งการปกปิดหนี้สิน การตกแต่งไม่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และการตกแต่งค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งการตกแต่งบัญชีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ในระบบการจัดทำและการนำเสนองบการเงินของกิจการ ทำให้ผู้ใช้งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำงบการเงินไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดทุนและ สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
การตกแต่งงบการเงินในระบบสหกรณ์ ถือเป็นการทุจริตประเภทหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น เพราะทำให้งบการเงินไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสหกรณ์ และระบบสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเงินของประเทศเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากกลุ่มตรวจสอบข้อมูลและบริการสารสนเทศ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวนสหกรณ์ ทุกประเภทที่จะต้องตรวจสอบมีทั้งสิ้น จำนวน 6,674 แห่ง สามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ได้ 6,212 แห่ง มีสมาชิกรวม 12.17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.29 ของประชากรทั้งประเทศ (ปี 2563 ประชากร ทั้งประเทศจำนวน 66.55 ล้านคน) มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3.51 ล้านล้านบาท และมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น 1.91 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเกิดการทุจริตในระบบสหกรณ์ จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ สัญญาณเตือนภัยจากการตกแต่งงบการเงินในสหกรณ์ อาจพิจารณาได้จากประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 2.มีระยะเวลาการเก็บหนี้นานขึ้น 3.มีสินค้าคงคลังสูงมากผิดปกติ 4.ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น 5.ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นแต่กำไรลดลง 6.หนี้สูญเพิ่มสูงขึ้น 7.ผู้สอบบัญชีมีการรายงานตรวจพบข้อสังเกตและความผิดปกติ 8.รายงานของผู้สอบบัญชียาวผิดปกติ 9.มีการบันทึกตัดจำหน่าย (Write-Off) บ่อยครั้ง หรือตัดจำหน่ายในรายการที่ดูซับซ้อนมากเกินไป 10.มีผลประกอบการคงที่ แม้เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นจะมีความผันผวนสูง 11.บันทึกรายได้ค้างรับ (แต่ยังไม่ได้เงินสด) มากเกินไป 12.สหกรณ์มีกำไรสุทธิออกมาดี แต่ในงบกระแสเงินสดกลับไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น
นางรัตติยา กล่าวอีกว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี การควบคุมภายใน และการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จึงต้องพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานและเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้เท่าทันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ ดังนี้
1.มาตรการตรวจสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีสหกรณ์จะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบรายการบัญชี เอกสารการบันทึกบัญชี และหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งวิธีการตรวจสอบอื่นที่จำเป็นของสหกรณ์ที่มีสัญญาณเตือนภัย การตกแต่งงบการเงิน และให้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเพิ่มมากกว่าปกติ รวมทั้งปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี โดยคำนึงถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพ ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการควบคุมภายใน หรือพบการทุจริต ในสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีจะต้องเสนอข้อสังเกตให้ผู้บริหารของสหกรณ์ทราบโดยเร็ว
2.มาตรการกำกับดูแล จัดให้สหกรณ์มีระบบการควบคุมภายในโดยใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชี ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ Smart 4 M ซึ่งสามารถตรวจสอบ และสอบทานความถูกต้องได้ในทุกขั้นตอนตลอดเวลา ประกอบด้วย
M ที่ 1 SmartMe เป็นโปรแกรมระบบบัญชีรายบุคคล สำหรับสมาชิกสหกรณ์และบุคคลทั่วไป ใช้บันทึกข้อมูลบัญชีรับจ่าบในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เช่น การรับเงินเดือน การซื้อสิ่งของ อุปโภค บริโภค เป็นต้น โดยระบบจะออกรายงานสรุปรายรับ-รายจ่ายประจำเดือนและประจำปี เพื่อให้ผู้ใช้งานได้นำไปวิเคราะห์วางแผนการใช้จ่ายเงินให้เพียงพอกับจำนวนเงินที่ได้รับ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เพื่อให้ทราบว่าการประกอบอาชีพของตนนั้นมีรายได้ ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย และกำไรหรือขาดทุนจากการประกอบอาชีพจำนวนเท่าไรและสามารถนำผลการบันทึกมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการประกอบอาชีพได้
M ที่ 2 SmartMember เป็นโปรแกรมระบบสอบถามข้อมูลสมาชิกสหกรณ์ โดยระบบจะแสดงรายการธุรกรรมทั้งหมดของสมาชิกที่ทำกับสหกรณ์ในภาพรวม เช่น รายการยอดคงเหลือ รายการเคลื่อนไหวล่าสุดและกราฟแสดง การเปรียบเทียบยอดเงินรับฝาก ทุนเรือนหุ้น เงินกู้ยืม สัญญาเงินกู้ และภาระค้ำประกัน โดยสมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบยอดคงเหลือและรายการชำระเงินกู้ยืม เงินรับฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้สหกรณ์เกิดความโปร่งใส
M ที่ 3 SmartManage เป็นโปรแกรมระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารสหกรณ์ โดยระบบ จะแสดงข้อมูลสรุปการเคลื่อนไหวประจําวัน และแสดงยอดสะสมของการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ การรับ ฝากเงิน การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และการรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร และแสดงข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ณ วันปัจจุบัน คณะกรรมการสหกรณ์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทันการณ์และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
M ที่ 4 SmartMonitor เป็นโปรแกรมระบบเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์แบบ Real Time สำหรับผู้สอบบัญชีสหกรณ์ โดยระบบจะแสดงข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย อัตราสภาพคล่องทางการเงิน อัตราความเพียงพอของเงินทุนต่อความเสี่ยง อัตราความเพียงพอของทุนสํารอง และอัตราประสิทธิภาพการควบคุมค่าใช้จ่ายดําเนินงาน ซึ่งสามารถที่จะบ่งชี้ความเสี่ยงในแต่ละด้านของสหกรณ์ โดยจะอยู่ในกล่องที่สามารถแปลความหมายผ่านสีของกล่อง และมีรูปการ์ตูนหน้าคนที่บ่งบอกถึงความหมาย นอกจากนี้ยังสามารถที่จะคลิกดูรายละเอียดความหมายของอัตราส่วนแต่ละอัตราได้ ซึ่งผู้สอบบัญชีสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้วางแผนในการตรวจสอบบัญชีและเตือนภัยทางการเงินให้แก่สหกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) ให้เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน เพื่อรองรับการตรวจสอบบัญชีระยะไกล (Remote Audit)
3.มาตรการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี โดยการพัฒนาแบบประเมินคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์เพื่อให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐาน ผลงานสอบบัญชีมีคุณภาพ เชื่อถือได้ มีการควบคุมคุณภาพงาน สอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง ก่อนการปฏิบัติงานสอบบัญชีเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหายหรือผลกระทบต่อผู้ใช้ งบการเงิน งานสอบบัญชีสหกรณ์ทุกชิ้นงานจะต้องผ่านการสอบทานงานก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นต่องบการเงิน และจัดให้มีการพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้สอบบัญชีและผู้สอบทานงานอย่างต่อเนื่อง
"อย่างไรก็ตาม การป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ จะต้องใช้หลายๆ วิธีการควบคู่กัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการสหกรณ์ รวมไปถึงสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องร่วมกันดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จึงจะสามารถป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นได้”นางรัตติยา กล่าว