“การใช้กฎหมายที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรม ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้เหมือนหุ่นยนต์ เหมือนคนไม่มีชีวิต” ในสถานการณ์ความอ่อนไหวการตีความทางกฎหมายในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าในประเด็นเดียวกันแม้แต่นักกฎหมายด้วยกันยังมองต่างมุม จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้งของบ้านเมืองขึ้น “รื่นรมย์คนการเมือง” วันนี้จะแนะนำให้รู้จักนักกฎหมายมากประสบการณ์ ดีกรีจบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา 2549 เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรากำลังพูดถึง “อาจารย์ปัต” ภัทรศักดิ์ วรรณแสง อาจารย์สอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนนิติศาสตร์อย่างไรได้เกียรตินิยม อาจารย์ปัต เล่าถึงการเรียนกฎหมายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนเองต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร โดยในปีแรกคะแนนเฉลี่ยได้ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรียนไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ เรียนจากเหตุผล ไม่ใช้วิธีจำ จะจำได้ไม่หมด ซึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เน้นให้นักศึกษาจำ แต่ให้รู้จักคิด เข้าใจหลักกฎหมาย บางวิชามี 100 มาตรา แต่อาจารย์จะสอนหลัก ๆ เพียง 20 มาตรา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะต้องนำไปวิเคราะห์ การเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่สัมผัสประชาชนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ อาจารย์ผู้สอนยังใช้วิธีพานักศึกษาไปออกค่าย จากนั้นจะนำปัญหามาพูดคุยกันในห้องเรียนทำให้ไม่เบื่อการเรียน และทำให้สนใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาถ้าเราเป็นทนายความจะทำอย่างไร ถ้าเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา จะทำอย่างไร ทำให้เข้าใจปัญหา และปรับใช้ได้ถูกต้อง และสามารถถ่ายทอดความเข้าใจกฎหมายให้กับชาวบ้านด้วย เพราะฉะนั้นการเรียนกฎหมายเพื่อนำกฎหมายไปสู่ประชาชนมากกว่าที่จะเอากฎหมายไปทำมาหากิน หรือในทางธุรกิจ ในธรรมศาสตร์ถูกสอนในลักษณะนั้นมากกว่า อาจารย์ที่คณะก็จะพยายามสอนให้รู้สึกว่าเรียนกฎหมายไม่ได้เอาเปรียบใคร แต่ต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคม ยก “อาจารย์รพี” คือไอดอล อาจารย์ปัต บอกว่า ต้นแบบนักกฎหมาย คือ พระบิดาแห่งกฎหมาย คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์เรียนอะไรเรียนจริงจัง ทำอะไรก็ทำจริงจัง แม้สิ่งที่ไม่มีความรู้ เช่น ตอนเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไปชุดคลองรพีร์พัฒนศักดิ์ ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็เป็นโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สมัยก่อนชุดคลองถือเป็นเรื่องใหญ่ ท่านก็อธิบายให้บรรดาเสนาบดีฟัง และก็ยอมรับความคิดท่านทั้งที่เป็นนักกฎหมาย ท่านอยู่ที่ไหนก็ทำความเจริญตรงนั้น เป็นไอดอลของเรา เหมือนที่ท่านบอกว่า “My life is service”ชีวิตท่านคือการให้บริการประชาชน เป็นนักเรียนทุนที่คุ้มค่าที่สุดในประเทศไทย และกลับมาพัฒนากฎหมายเราให้เป็นประเทศเอกราชจนทุกวันนี้ และมีส่วนทำให้กฎหมายเราเจริญเท่าเทียมมาตรฐานโลก ถ้าไม่ได้ท่านก็ไม่รู้ว่ากฎหมายไทยจะเจริญเท่าทุกวันนี้หรือไม่ “คุณธรรม-จริยธรรม”เป็นสิ่งสำคัญ อาจารย์ปัต บอกว่าเรียนกฎหมายสมัยก่อนกับสมัยนี้ที่แตกต่างเห็นได้ชัด คือตำราเรียนยุคนี้น้อยกว่าสมัยก่อน ตำรายุคใหม่ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาไว้มากกว่า เพราะฉะนั้นระบบการเรียนการสอน การสอบเข้าทำงาน ไม่ว่าที่ไหน ทุกที่จะเน้นคำพิพากษาศาลฎีกา หรือคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เน้นคำท่องจำคำพิพากษาไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะคำพิพากษาต่างๆ ก็วางหลักไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ในระยะหลังนักศึกษาจะจำคำพิพากษาเพื่อตอบ นอกจากนี้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใช้กฎหมายที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรม ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้เหมือนหุ่นยนต์ เหมือนคนไม่มีชีวิต เพราะคดีที่ตัดสินแต่ละคดีแม้ว่าองค์ประกอบความผิดจะเหมือนกันก็ตาม แต่พฤติการณ์การทำแต่ละคดีไม่เหมือนกัน เช่น การลักทรัพย์ในห้าง เพื่อนำไปขายซื้อยาเสพติด หรือลักทรัพย์เพื่อนำเงินไปซื้อนมให้ลูกกิน ถือเป็นการลักทรัพย์เหมือนกัน แต่การปรับใช้กฎหมาย การลงโทษน่าจะต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าไม่ลงโทษน้อยสำหรับคนที่ลักขโมยของไปให้ลูก ไม่ได้วางมาตรฐานว่าใครไม่มีเงินก็ไปขโมย เพียงแต่ต้องดูเป็นกรณี ๆไป เหมือนการเรียนเศรษฐศาสตร์มีทั้งมหภาค และจุลภาค นักกฎหมายก็ควรจะดูทั้งมหภาค และจุลภาคด้วย กฎหมายมหภาคคือต้องดูว่ากฎหมายเป็นธรรมหรือไม่ ตัวอย่างพระบรมราโชวาทให้การใช้กฎหมายต้องยึดถือคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลัก กฎหมายเป็นรอง ต้องถือความยุติธรรมอยู่เหนือกฎหมาย และต้องแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้ ซึ่งนักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่ต้องมี การสัมผัสปัญหาของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ยึดพระบรมราโชวาท “รัชกาลที่ 9” อาจารย์ปัต มองว่าในปัจจุบันหลักการของกฎหมายเหมือนเดิม แต่คนใช้เปลี่ยน สิ่งที่ตนเองได้ยึดถือคือพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้พิพากษาอย่าคิดว่ามีหน้าที่นั่งพิจารณาพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไปเผยแพร่กฎหมายให้ชาวบ้านได้รู้ด้วย ยุคหลังศาลยุติธรรมจึงมีโครงการเผยแพร่กฎหมายสู่ประชาชน นอกจากนี้พระบรมราโชวาทตอนที่ประเทศชาติเข้าสู่ภาวะความขัดแย้งทางการเมือง พระองค์ก็ทรงให้แนวคิดประนีประนอม ว่า “ถ้าทุกคนมุ่งหวังแพ้ชนะ ประเทศชาติก็แพ้หมด ประเทศชาติก็เสียหาย ประชาชนก็เดือดร้อน” เราก็นำมาใช้ในแต่ละคดีได้ ไม่ควรให้ระบบกฎหมายแข็งกระด้างเกินไป นอกจากนี้การออกกฎหมายก็ต้องดูบริบทหรือสภาพแวดล้อมของสังคมไทยด้วย อยู่ตรงไหน ทำให้ดีที่สุด อาจารย์ปัต บอกวิธีแก้ปัญหาเวลาไม่สบายใจว่า จะใช้วิธีรับทราบ และรับรู้แล้วไปดูที่ต้นเหตุ อย่าเอาไว้ในใจจะทำให้เราแก่โดยใช่เหตุ จะนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะพระบรมราโชวาท ซึ่งได้อ่านเยอะมาก และรวบรวมเป็นเล่มตอนเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา และพระบรมราโชวาทหลายองค์ไปให้ศาลผู้พิพากษาเป็นคำขวัญประจำศาลก็มี นอกจากนี้ผมเขียนบทความ “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร”ด้วย โดยเฉพาะตอนที่พระองค์ทรงไปแก้ไขปัญหาเรื่องฝิ่นของชาวเขา ทั้งที่ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นนักรัฐศาสตร์ ถ้าใช้กฎหมายจับอย่างเดียวปัญหาก็ไม่จบ ส่วนหลักในการดำเนินชีวิต อาจารย์ปัต บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่เรามีลาภยศเพราะเขาให้ใช้ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่นำไปเสวยสุข ตอนนี้ก็บั้นปลายชีวิตแล้วทำอะไรก็นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไปไหนก็ไปด้วยความสง่างาม สิ่งที่ตามตัวเราไปคือความดี นักกฎหมายไม่ใช่เทวดา อาจารย์ปัต ฝากทิ้งท้ายให้กับนักกฎหมายรุ่นหลังว่า สังคมในปัจจุบันใช้กฎหมายเป็นหลัก ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเกิดจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยกตัวอย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ จิตติ ติงศภัทิย์ นักกฎหมาย เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนักกฎหมายเทศกาลบ้านเมือง ใช้คำว่ารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ไปด้วยกันได้ นักรัฐศาสตร์มีหน้าที่สะท้อนปัญหาให้นักกฎหมายรู้ว่ากฎหมายบางอย่างเกิดความไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักกฎหมายไปแก้ให้เกิดความเป็นธรรมได้ แต่ไม่ใช่ว่านักกฎหมายอ้างรัฐศาสตร์เพื่อไม่ทำตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน ต้องไม่มองข้ามกฎหมาย บางคนบอกว่าทำไปก่อนค่อยมาว่ากัน คนที่ถือกฎหมายอยู่ในมือต้องใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดความชอบธรรม ส่วนประชาชนมีหน้าที่สะท้อนปัญหาให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ “นักนิติบัญญัติก็ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ใช่งอมืองอเท้า นักกฎหมายไม่ใช่เทวดา ต้องฟังความเห็นของทุกคน ถ้ากฎหมายออกไปประชาชนไม่ยอมรับ กฎหมายก็เหมือนเศษกระดาษใบหนึ่ง แม้แต่กฎหมายจราจรในปัจจุบันก็ไม่มีใครปฏิบัติตาม กฎหมายไม่ได้อยู่ลำพังด้วยตัวเอง แต่การบังคับใช้กฎหมายสำคัญ” เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์