สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
ชื่อ “พระพิจิตร” ไม่ได้มีที่จังหวัดพิจิตรเท่านั้น เพียงแต่ในสมัยก่อน เมื่อมีการค้นพบพระกรุครั้งแรกที่ใด ก็มักจะใช้ชื่อที่นั้นเรียกขานนามกัน และ ‘พระพิจิตรข้างเม็ด กรุเขาพนมรุ้ง จ.สุโขทัย’ ก็เช่นกัน แล้วยังเรียกได้ว่า ทัดเทียมกันกับพระต้นพิมพ์ของจังหวัดพิจิตรเลยทีเดียว ทั้งด้านพุทธลักษณะและพุทธคุณ
กรุเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย นั้น เป็นที่ยอมรับกันในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องว่า เป็นกรุพระพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในจำนวนหลายๆ กรุของจังหวัด ด้วยเป็นกรุพระพิมพ์เดียวที่พบ ณ เขาพนมเพลิง เมืองศรีสัชนาลัยเก่า เมืองแห่งประวัติศาสตร์ พระพิมพ์ที่พบก็มีมากมายหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการล้อพิมพ์มาจากพระพิมพ์สมัยต่างๆ แต่ที่เข้าตากรรมการ ทั้งพุทธลักษณะที่งดงาม และพุทธคุณที่เป็นเลิศในด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม นั่นก็คือ ‘พระพิจิตรข้างเม็ด’
‘พระพิจิตร’ ต้นพิมพ์จากจังหวัดพิจิตรที่ในวงการเรียกกันว่า “กรุเก่า” นั้น ปัจจุบันหาดูหาชมได้ยากมาก เรียกว่านักเล่นพระรุ่นหลังแทบไม่มีโอกาสได้ชมกัน ต่อมาเมื่อมีการเปิด “กรุเขาพนมเพลิง” และได้พบเห็นพระพิจิตรข้างเม็ด ซึ่งมีความงดงามและพุทธคุณไม่แพ้กรุเก่า ความนิยมในพระพิจิตรข้างเม็ดจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวมไปถึงพระพิจิตรข้างเม็ดกรุเก่าด้วย เราเรียกกันว่า “กรุใหม่” ความแตกต่างของพระพิจิตรข้างเม็ดทั้ง 2 กรุนี้ ให้สังเกตที่สีผิวขององค์พระ เนื่องจากความต่างกันของกรุที่บรรจุนั่นเอง พระพิจิตรข้างเม็ดกรุเก่า เป็นพระเนื้อชินแข็ง ผิวกรุจะค่อนข้างดำ หรือที่เรียกกันว่า “สนิมตีนกา” ส่วน พระพิจิตรข้างเม็ด กรุเขาพนมเพลิง เป็นพระเนื้อชิน ผิวปรอทขาว จะมีเพียงส่วนน้อยที่ถูกไขขาวหุ้ม หรือบางองค์เนื้อกลับไปเป็นดำ
พระพิจิตรข้างเม็ด เป็นพระเนื้อชิน ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยแบบเข่านอก ล้อมรอบด้วยจุดเม็ดเล็กๆ ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘พระพิจิตรข้างเม็ด’ องค์พระมีทั้งหนาและบาง มีทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ทรงชะลูด พิมพ์ทรงต้อ พิมพ์กลาง และ พิมพ์เล็ก
‘พิมพ์ทรงชะลูด’ มีความงามพอประมาณ พระพักตร์รูปไข่ ปรากฏพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และ พระกรรณ เม็ดด้านข้างติดชัด กรอบพิมพ์จะแลสูงชะลูดกว่าทุกพิมพ์ เส้นสังฆาฏิยาวจดพระนาภี เหนือพระหัตถ์มีขีดนูนขึ้นมา 1 ขีด พิมพ์ด้านหลัง เป็นหลังตัน มีลายผ้าหยาบๆ
‘พิมพ์ทรงต้อ’ มีความงดงามมากกว่าทุกพิมพ์ พิมพ์ทรงเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า พระเกศสั้น ช่วงพระอังสะกว้าง ดูล่ำสันกว่าทุกพิมพ์ พิมพ์ด้านหลัง เป็นลายผ้าเว้า และหลังเรียบ
‘พิมพ์กลาง’ พระพักตร์โตและงุ้มเล็กน้อย ปรากฏรายละเอียดชัดเจนทั้งองค์พระ โดยเฉพาะเม็ดข้างๆ เด่นชัด องค์พระมีความหนาพอควร สังเกตที่เส้นสังฆาฏิจะสั้นกว่าทุกพิมพ์ พิมพ์ด้านหลัง มีทั้งหลังตัน หลังเว้า หลังลายผ้า หลังกาบหมาก และหลังเรียบ ที่สำคัญผิวปรอทจะฉาบขาวทั่วทั้งองค์ พิมพ์นี้จัดว่ามีความสมบูรณ์กว่าทุกพิมพ์
‘พิมพ์เล็ก’ องค์พระจะเล็กที่สุด พระเกศชะลูดสูง เส้นสังฆาฏิยาวจดพระนาภี พิมพ์ด้านหลัง เป็นหลังตันเรียบ และหลังลายผ้า พิมพ์นี้จะมีไขและฝ้ากรุเกาะองค์พระหนามาก ทำให้มีความงามน้อยกว่าทุกพิมพ์ จึงด้อยความนิยมไปบ้าง
ณ ปัจจุบัน ถือได้ว่า “พระพิจิตรข้างเม็ด กรุเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหน และหาดูหาเช่าค่อนข้างยากขึ้นมาก โดยเฉพาะที่มีความงามและสมบูรณ์แบบจริงๆ และพุทธคุณเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ครับผม