ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความภูมิใจแม้จะไม่ยิ่งใหญ่ให้คนอื่นรับรู้ แต่ก็ทำให้สุขใจเมื่อนึกถึง
สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในช่วง พ.ศ. 2549 - 2551 ปรากฏชื่อเสียงอยู่หลายเรื่อง ทั้งที่เป็นชื่อเสียงในด้านที่น่าภูมิใจและปรากฏเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป กับชื่อเสียงที่อาจจะไม่มีคนรับรู้หรือไม่ได้เป็นที่สนใจของสาธารณชน แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจในทางส่วนตัวของคนที่ทำงานอยู่ในช่วงนั้น ซึ่งรับรู้ด้วยตนเองว่า ก็มีผลงานที่ได้ทำเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมอยู่ด้วย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นทำงานอยู่ราว 16 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 จนถึงเดือนมีนาคม 2551 ออกกฎหมายไปทั้งสิ้นเกือบ 170 ฉบับ ที่เป็นกฎหมายหลัก ๆ และเป็นฉบับแรก ๆ ที่ใช้ในประเทศไทยก็เช่น พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ (พวกที่กดไลค์ กดแชร์ ส่งรูป และข้อความที่ผิดกฎหมายนี่แหละ) หรือกฎหมายที่แก้ของเดิมเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลในสังคมอย่างกว้างขวาง ก็คือพระราชบัญญัตินามสกุล ที่ให้หญิงที่แต่งงานสามารถเลือกใช้นามสกุลของตัวเองได้ รวมถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แต่ก็มีกฎหมายบางฉบับที่แท้งไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ร่างพระราชบัญญัติบริหารงานตำรวจ ที่ต้องการจะ “ปฏิรูป” ตำรวจ แต่ก็ถูกตำรวจใหญ่หลาย ๆ คนถ่วงรั้ง จนเสนอเข้าสภาไม่ทัน (และยังไม่สำเร็จจนถึงสมัย คสช.ในขณะนี้ ที่ปกครองมาถึง 7 ปี และประกาศเป็นนโยบายไว้ด้วยว่า จะปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จ) แต่ในทางส่วนตัวผมเกี่ยวกับผลงานที่เสียใจที่สุดในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นด้วยคนหนึ่งก็คือ การที่ไม่สามารถเอาผิด “กาฝาก” ที่อาศัยตำแหน่งทางการเมือง มาทำมาหากินในทางที่ทุจริตคดโกงนั้นได้
สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นมีหน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งคือการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำ โดยเมื่อ สสร.เขียนเสร็จก็จะต้องให้ สนช. คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นก็ต้องไปจัดทำประชามติจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อรับรองในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทูลเกล้าฯให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งขั้นตอนของ “กาฝาก” ที่เริ่มออกหากินก็อยู่ในตอนการทำประชามตินี้
ที่ปรึกษานรินทร์เปรยขึ้นมาในวงอาหารของคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม ติดตามงบประมาณ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่พวกเราทำงานอยู่ด้วยกันในมื้อค่ำวันหนึ่งว่า “งานนี้(การทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550)ต้องมีคนพุงกางหรือไม่ก็พุงแตกแน่ ๆ”
อีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ส่อเค้าทุจริต 19 ล้านฉบับพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น” พอผมได้อ่านข่าวนี้ก็นำเสนอสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ เพราะการทำประชามติต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯชุดของเราต้องเข้าตรวจสอบอยู่แล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานของคณะกรรมการตรวจสอบ
ผมขอสรุปความในประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ให้ทราบถึงเบื้องลึกเบื้องหลังสักเล็กน้อยว่า ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ที่เรียกง่าย ๆ ว่า “การทำประชามติ” นี้ จะต้องให้ประชาชนได้ทราบในเนื้อหารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด โดยจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอธิบายว่ามีการเขียนไว้อย่างไรในทุกมาตรานั้นให้ประชาชนได้อ่าน “ทุกบ้าน” โดยประเทศไทยมีบ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัวนี้ราว 19 ล้านครอบครัว (ข้อมูล พ.ศ. 2550) จึงต้องมีการจัดพิมพ์เอกสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นนั้นส่งไปทุกบ้าน ก่อนที่จะมีการลงคะแนนรับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยมีข่าวว่าค่าจัดพิพม์ที่ของบประมาณไว้ตกฉบับละ 12.50 บาท แต่ต้นทุนจริงมี “ผู้รู้” แจ้งว่าแต่ฉบับละ 9-10 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงมีส่วนต่างอยู่ 2.50 – 3.50 บาท ที่มีส่วนต่างไม่เท่ากันนี้ก็เพราะจัดจ้างพิมพ์ไปหลายโรงพิมพ์ แต่ที่ต้องถามกันต่อไปก็คือ “ใครเป็นผู้รับเงินทอนในส่วนต่างดังกล่าว”
ผมเชิญเจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่มาดูแลการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญมาสอบสวนหลายคน โดยเฉพาะในกองคลังที่ดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างนี้โดยตรง จากนั้นก็สอบสวนไปยังเอกชนคือโรงพิมพ์ผู้รับงานทุกโรงพิมพ์ แล้วจึงปิดท้ายด้วยการเชิญสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่เกี่ยวข้องและ “ยินดี” ให้ข้อมูล มาเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คณะกรรมการสอบสวนฟัง รวมถึงการสอบสวนในทางลับที่ทำผ่านผู้สื่อข่าว ข้าราชการ และ “คนที่รู้เรื่อง” บางคน รวมถึงที่ปรึกษานรินทร์ที่เป็นคนเปรยถึงเรื่องนี้ขึ้นเป็นคนแรกนั้นด้วย
การสอบสวนใช้เวลากว่า 2 เดือน ตามกระบวนการก็คือต้องจัดทำเป็นรายงานและนำเสนอในการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผมได้ขึ้นนำเสนอต่อที่ประชุมด้วยตนเอง จากนั้นสมาชิกก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะนำเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อตรวจสอบในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณนั้นว่า มีการทุจริตกันตามนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ผลงานที่ผมถือว่าเป็น “ชิ้นโบว์แดง” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้น ถูกรัฐบาล “เก็บเข้าลิ้นชัก” คือถูกเก็บดองและทำให้เงียบไป เพราะอีกไม่นานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นก็ต้องยุติบทบาทลง เพราะมีการเลือกตั้งและมีสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัตินั้นต่อไป
ผลการสอบสวนเราพบว่า มีผู้ร่วมกระทำทุจริตเป็นเครือข่ายกว้างขวาง ซึ่งถ้าคนที่ไม่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์จะไม่มีวันรู้และเข้าใจเลย โดยเริ่มจาก “เจ้าพ่อกระดาษ” (หมายถึงผู้นำเข้ากระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือต่าง ๆ) ที่มีรายใหญ่ ๆ อยู่เพียงไม่กี่ราย มาติดต่อกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่มีหน้าที่ดูแลการสั่งจัดพิมพ์ ที่มีกองคลัง สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นส่วนที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง การจัดซื้อจัดจ้างมีการจัดทำเป็นขยัก ๆ คือช่วงแรกเชิญโรงพิมพ์ของพรรคพวก(ในเครือข่ายที่กล่าวถึงข้างต้น) แล้วให้รับไปพิมพ์ในราคา 9 บาท ถึง 9 บาท 50 เพียง 3-4 รายก่อน แล้วค่อยเปิดจ้างพิมพ์ราคา 10 บาท ถึง 10 บาท 50 เป็นขยักต่อไปอีก 2-3 ราย โดยมีการ “รับช่วง” จ้างพิมพ์ไปยังโรงพิมพ์รายย่อย ๆ ต่อไปอีก นั่นก็คือการโกงกินกันในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของเอกชนกับข้าราชการอย่างเป็นระบบ โดยมีนักการเมืองในสภาร่างรัฐธรรมนูญ “นั่งเปิบ” อยู่อย่างสุขสบาย (ซึ่งบางคนก็ยังคงมีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยทุกวันนี้)
ผมได้มีโอกาสเจอที่ปรึกษานรินทร์อีกครั้งในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในชุดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อต้นปี 2560 ที่เขาก็ยังเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการคณะหนึ่ง เช่นเดียวกันกับผมที่ได้รับเชิญมาเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง เขาทักทายผมอย่างอึกทึก แล้วก็ไปนั่งดื่มกาแฟคุยกันที่สโมสรรัฐสภา เขายังสนุกกับงานการเมืองที่ทำ เขาบอกว่าสมัย คมช. คนเรียกว่า “ปัสสาวะไม่สุด” แต่สมัยของ คสช.นี้เขาอยากเรียกว่า “ไม่รู้จะปัสสาวะด้วยอะไร” ก่อนที่เราจะหัวเราะขึ้นเบา ๆ พร้อม ๆ กัน เพราะกลัวคนที่อยู่โต๊ะใกล้ ๆ ได้ยิน
บางทีพอนึกถึงความสุขในการทำงานในอดีต ก็ต้องแอบ “หัวเราะเงียบ ๆ” อยู่เช่นกัน