เมื่อวันที่ 8 เม.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Tawee Sodsong-พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง" ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ โดยระบุว่า
7 เม.ย.64-การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 11 ซึ่งเป็นการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 9(4) กรณีที่ “รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสีย...” นั้น
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายด้วย โดยกล่าวว่า “มาตรา 11 เกิดมาเพราะมาตรา 9 (4) กำหนดให้เป็นการพิจารณาและเป็นมติของ”รัฐสภา“
“แต่ร่าง มาตรา 11 บัญญัติว่า ‘เมื่อมีกรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9(4) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งมติเห็นชอบของแต่ละสภาให้นายกรัฐมนตรีทราบ..’ คือเป็นการแยกประชุมแต่ละสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่ประชุมรวมกัน ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้เป็นประเด็นนี้สำคัญไม่ควรที่จะทำให้กฎหมายผ่านไปแบบลวกๆ แล้วสุดท้ายจะเป็นกฏหมายที่คลุมเครือแอบแฝง และจะถูกประชาชน นักเรียน นักศึกษา ตราหน้าได้ เพราะสังคมไทยใช้กฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อกฎหมายมีความไม่ชัดเรื่องถ้อยคำ หรือมีปัญหาเราต้องใช้พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แปลความหมายของคำ”
“มติของรัฐสภาเป็นถ้อยคำที่ชัดเจนแล้ว คือการประชุมรัฐสภา ที่ประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มาตรา 11 เขียนข้างตนน่าจะไม่ชอบ ซึ่งถ้ามคิดว่ามีปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 156 ที่บัญญัติประชุมรวมได้ 16 กรณีนั้น กรรมาธิการฯก็ควรแก้มาตรา 9 (4) ให้สอดคล้องกับมาตรา 11 แทนจะเหมาะสมกว่า”
“ผมเข้าใจว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายของรัฐบาล รัฐบาลพยายามให้ผ่านไป เพราะถ้ารัฐบาลไม่ให้ผ่านแล้วรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย คืออาจจะต้องยุบสภาหรือลาออก จึงพยายามบังคับข่มขืน หรือพยายามอธิบายที่แอบแขส่อไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดกับการเรียนหนังสือของนักศึกษา นักเรียน หรือเด็ก เป็นเรื่องน่าห่วงมาก”
“ร่าง กฎหมายประชามตินี้มีสองส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นประชามติของคณะรัฐมนตรี ผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ทำประชามติ ใช้กฏหมายในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่เคยฟังเสียงประชาชนเลย แล้วไปเขียนกฎหมายและกฎหมายไม่ได้ใช้ มันไม่มีประโยชน์ กับกรณีการทำประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นกระแสความขัดแย้งในสังคมไทย ความขัดแย้งที่ประชาชนต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทำได้โดยอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องทำประชามติกับประชาชนผู้สถาปนารัฐธรรมนูญก่อน ขอเสนอคณะกรรมาธิการเห็นว่า มาตรา 156 (16) คือ ‘กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 211 ‘คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ’ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า “ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องทำประชามติกับประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก่อน” การประชุมร่วมรัฐสภาไม่น่าจะทำได้
“แต่การที่บัญญัติให้แยกเป็นต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและวุฒิสภาเห็นชอบ นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเชื่อว่าวุฒิสภาน่าจะไม่เห็นชอบ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นจะมีผลให้เสียผลประโยชน์ของวุฒิสภา ดังนั้นจึงขอเสนอเพิ่มมาตรา 11 วรรคสอง ว่า ‘ในกรณีออกเสียงประชามติตามมาตรา 9 (4) เป็นการลงมติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ’ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ให้รัฐสภามีมติร่วมกัน หากเติมมาตรานี้อีกหมวดหนึ่งก็จะสอดคล้องกัน”
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมอยากให้ยึดกฏหมายและความยุติธรรม ไม่เอาชนะด้วยการครอบงำด้วยอำนาจอื่น หากกฏหมายออกใช้บังคับ ประชาชน นักเรียนนักศึกษาที่เรียนที่ยึดถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษร ตามพจนานุกรม จะมองว่า รัฐสภาเองเขียนกฎหมายที่คลุมเครือ ทำลายภาพลักษณ์ของรัฐสภา ทำให้กฏหมายกลายเป็นสมบัติของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”