ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “มนุษย์แต่ละคนล้วนมีภาษาของชีวิตที่ต้องกลั่นออกมาจากเนื้อแท้ของจิตใจ...ทั้งนี้เพื่อการบรรลุถึงแนวทางแห่งการดำรงอยู่อันสุขสงบและเป็นสันติ...การเข้าใจในแก่นสารของความเป็นบุคคลนับเป็นมิติสำคัญต่อมโนสำนึกของการเรียนรู้ในการถ่ายทอดวิถีแห่งภราดรภาพออกมาด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ที่หยั่งลึกลงไปถึงความรัก... ยิ่งถ้าหากบุคคลผู้นั้นอยู่ในฐานะของกวี...การใช้ภาษาโดยความเป็นปัจเจกของเขาที่ขับเน้นออกมาจากด้านในของหัวใจก็นับเป็นความสามัญอันยิ่งใหญ่ในปรากฏการณ์แห่งผัสสะที่มีธรรมชาติอันรายรอบไปด้วยความคิดแห่งความงดงามเป็นเครื่องถักทอรูปรอยแห่งความเป็นศรัทธาให้เกิดขึ้นกับโลกแห่งความหมายของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม” ... นี่คือสาระในความรู้สึกที่นิ่งสงบอันเป็นคุณค่าที่ลึกซึ้งซึ่งได้รับจากรวมบทกวีจำนวน 30 บทในนามของ “ขอเวลาให้กับความรักบ้าง” โดย “มูฮัมมัด ส่าเหล็ม” กวีชาวมุสลิม... ผู้สร้างสรรค์บทกวีอย่างมีพลังและดิ่งลึกถึงการรับรู้แห่ง “หัวใจกวี” ด้วยลีลาของกลอนเปล่าอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ.2519… 45 ปีล่วงมาแล้ว บนวิถีชีวิตของความเป็นกวี... ผ่านผลงานรวมเล่มนับจาก “อยากจะเรียกเธอคืนมา”... “ของขวัญจากวันเวลา” ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี พ.ศ.2532 มาถึง... บทกวีที่เขียนให้แก่ลูก... “ลูกมาน ดวงใจที่ตื่นอยู่” ... ปี พ.ศ. 2537 รวมบทกวี “ไม่มีเหตุผลที่เราจะทำร้ายกันอีก”... ถือเป็นผลงานแห่งภาพสะท้อนในความเป็นโลกแห่งชีวิตได้อย่างเกาะกินใจอย่างยิ่งภายใต้บริบทของความขัดแย้งที่ระอุขึ้นด้วยความแปลกต่างและความบ้าคลั่งในอัตตาแห่งความเป็นตัวตนของชีวิต... อีก 7 ปีต่อมา พ.ศ.2544… รวมบทกวี “ขอเวลาให้กับความรักบ้าง” ของเขาก็ได้ปรากฏออกมาด้วยนัยของการ... “ขอเวลาให้กับความจริง ขอเวลาให้สันติภาพ ขอเวลาให้กับรอยยิ้มและดวงตาแสนงาม” เจตจำนงในเบื้องต้นนี้... ถือเป็น “ปากคำของกวีคนหนึ่ง” ที่มุ่งหวังและปรารถนาจะเห็นโลกแห่งชีวิตของเขาเป็นสีขาวด้วยเงื่อนไขของความบริสุทธิ์ ด้วยสำนึกคิดของความห่วงหาอาทรและด้วยทัศนคติของความเข้าใจประหนึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจ... การสื่อสัมผัสในบทกวีของเขา... ประกอบไปด้วยน้ำคำของความหมายแห่งความจริงใจ... ที่ไหลหลั่งออกมาจากหัวใจหนึ่ง เพื่อพุ่งเข้าสู่อีกหัวใจหนึ่งด้วยความหลากหลายและแม่นตรง... ปราศจากนัยจริตแห่งมายาคติ... ทุกๆกรอบเกณฑ์ในรูปเล่มและเนื้อหาแห่งบทกวีของเขาคือวรรณศิลป์ที่ก่อเกิดขึ้นจากศรัทธาในองค์รวมแห่งความเป็น่ไปของชีวิต ศาสนธรรมและผลึกแห่งการหยั่งเห็นของประสบการณ์ที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจ... “ฉันเห็นหยาดน้ำตา...ฉันคิดว่าเป็นความโศกเศร้า ฉันได้ยินเสียงหัวเราะ ฉันเข้าใจว่า เป็นความรื่นเริง ฉันได้ยินเสียงนกร้อง ฉันคิดว่านกขับขานบทเพลง เพื่อนมนุษย์เช่นนี้เองฉันเข้าใจเธอ” “มูฮัมมัด ส่าเหล็ม” เริ่มต้นกล่าวขานถึงความเข้าใจในสรรพสำเนียงแห่งความเป็นชีวิตในรูปรอยของความเป็นมนุษย์ที่มุ่งแปลความนัยต่างๆในบริบทแวดล้อมของการดำรงอยู่ให้สื่อสารกันด้วยแรงบันดาลใจของความอิ่มเอมรักใคร่... ท่ามกลางความขัดแย้งในความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียน้ำตา... ความขัดแย้งถือเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของชีวิต... ที่มนุษย์ยุคใหม่มองไม่เห็นความสำคัญนี้กระทั่งบ่มเพาะกลายเป็นความเกลียดชังให้เกิดขึ้นระหว่างกันและกัน... แท้จริงในความหมายของการอยู่ร่วม... เราจักต้องมีความฝันที่ผสานเป็นคุณประโยชน์ของมนุษยชาติ... ความฝันที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนกล้าขบถ ซึ่งนั่นหมายถึงอำนาจเบื้องบนที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้... เป็นความศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ในความหมายแห่งความทรงจำของทุกสิ่ง... “ขอบคุณพระเจ้า... ที่พระองค์ให้ความฝันมา ความฝันที่เป็นของมนุษย์เอง ขอบคุณที่พระองค์ใจกว้าง ให้อิสระในความฝัน แม้ว่าจะมีมนุษย์บางคน ฝันที่จะต่อต้านพระองค์ “มูฮัมมัด” ได้แสดงให้ได้ประจักษ์ว่าพระเจ้าแห่งศาสนาที่เขานับถือ... คือผู้สร้างที่จุดประกายความฝันอันทรงพลานุภาพให้แก่การหยั่งเห็นของมวลมนุษย์... ในบทกวี “แม่... ลูกมาที่นี่แล้ว...”... “มูฮัมมัด” ได้แสดงถึงนัยแห่งกระจกเงาของการจากพราก... บนวิถีแห่งความเป็นอนุสาวรีย์และของขวัญแห่งการรำลึกถึง ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมเนียมของความเชื่อถือที่ยึดมั่นอันส่งผลต่อการยกระดับจิตใจที่ฝังแน่นอยู่กับร่มเงาแห่งการยอมรับนับถืออันเปิดกว้างบนพื้นฐานแห่งเสรีภาพของมโนธรรม... “กลับมาสู่บ้านเกิดอีกครั้ง กลับมาเยี่ยมแม่ มาเยี่ยมหลุมศพของแม่ หญ้าขึ้นเต็มหมดแล้ว บนเนินดินหลุมศพแม่ แต่อนุสาวรีย์ ของความเป็นแม่ ยังยืนตระหง่านอยู่ เหนือดวงใจของลูก... แม่... ลูกมาที่นี่แล้ว แทบเท้าของแม่ มาเพื่ออวยพรให้กับการจากพราก” รูปรอยของความกตัญญูนับเป็นอีกด้านหนึ่งของหลักการแห่งชีวิต... ที่ “มูฮัมมัด” เลือกที่จะกล่าวถึงเป็นความอัศจรรย์ต่อการสร้างกระแสแห่งพฤติกรรมในเชิงศีลธรรมอันละเอียดอ่อน... ที่มนุษย์ทุกคนต้องค้อมตัวค้อมใจลงเพื่อน้อมรับ บทกวีส่วนใหญ่ของ “มูฮัมมัด” ล้วนมองโลกในแง่จริงบนรากฐานของความงามแห่งจิตอันเป็นกุศล การตีความนัยสำนึกที่หม่นมืดให้ส่องประกายเป็นความสุกสว่างในโลกแห่งความหมายของชีวิตคือแนวทางแห่งความอ่อนโยนที่ถูกโอบประคองไว้ด้วยศรัทธาของความเข้าใจที่ดำรงอยู่ เหนือสถานการณ์อันวิกฤต... เหตุอันเกิดขึ้นจากข้อตระหนักอันลึกซึ้งนี้จึงนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในเนื้อแท้ของความเป็นตัวตนแห่งตนอันเข้มแข็ง... ซึ่งนั่นเท่ากับว่ามนุษย์ทุกคนสามารถจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการค้ำยันจากส่วนลึกแห่งจิตอันไม่หวั่นไหว จนกระทั่งกลายเป็นจุดยืนที่เต็มไปด้วยเหตุและผลของทัศนคติที่เป็นประโยชน์สุข... “ฉันเชื่อมั่นในตนเอง... ฉันเชื่อมั่นในจุดยืนของฉัน ฉันเชื่อมั่นในความเห็นของฉัน ฉันเชื่อมั่นในตนเองอย่างแน่นอน... ฉันเชื่อมั่นอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปร... ในทางตรงข้าม “มูฮัมมัด” ดำรงวิถีความเชื่อของเขาในบทสะท้อนที่เป็นอื่น... บทสะท้อนที่ส่งสารออกมาจากมุมมองของคนอื่น... นั่นคือดุลยภาพระหว่างกันบนบริบทที่ดำเนินไปด้วยความเสมอภาค... ความตระหนักของการอยู่ร่วมกันแห่งมนุษยชาติย่อมต้องบ่มเพาะขึ้นจากวิถีจริตตรงส่วนนี้ มากกว่าการที่ต่างคนต่างเชื่อมั่น... ต่างคนต่างยึดถืออันเป็นมูลเหตุสำคัญของการทำร้ายและทำลายสันติสุขแห่งชีวิตของกันและกัน... “มูฮัมมัด ส่าเหล็ม” บันทึกถึงการอุทิศรวมบทกวีชุดนี้แด่ “คนที่ฉันรัก”... คือบรรดาคนดีของแผ่นดิน... การมองโลกในแง่งามของเขา... ทำให้หัวใจของเขาคิดวาดความรักออกมาสู่นัยของความเป็นโลกและสู่การโลดเต้นในท่วงทำนองของชีวิตด้วยท่าทีที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ... สิ่งๆนี้อาจนับเป็นความหมายเดียวที่เราทุกคนจะสามารถสัมผัสชีวิตได้อย่างถ่องแท้... ณ ขณะที่เราต่างหลงลืมและไม่เคยที่จะมอบเวลาอันมีค่าแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตให้แก่ภาวะสำคัญดังกล่าวนี้เลย... นั่นคือความคุ้นชินในธรรมชาติของการดำรงอยู่ที่แสนจะเหือดแห้ง... “ในฝันของวัยเยาว์ ฉันวาดความรัก เป็นดอกกุหลาบสีชมพูอมหวาน ฉากเป็นฟ้าสีคราม มีเมฆขาวสะอาด ลอยอยู่บนฟ้าคราม นกแห่งความฝัน โผบินไปสุดขอบฟ้า... เมื่อฉันเติบโตขึ้น ฉันได้พบว่า ความรักบางด้าน เป็นสีดำ ฉันจึงแต้มสีดำ ไว้บนกลีบกุหลาบ แม้ใจจริง ฉันไม่อยากแต้มสีดำ ไว้บนดอกกุหลาบ จนฉันอายุมากแล้ว ฉันแต้มสีของความรักเปลี่ยนไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จนดวงตาฝ้าฟาง ฉันวาดความรักยังไม่เสร็จ...” บทกวีแห่งสัจจะที่จับใจ “วาดความรัก” บทนี้คือภาพแสดงทางความรู้สึกในปรารถนาของการมุ่งหวังให้โลกได้มีผัสสะของความรักเป็นตราประทับอันศักดิ์สิทธิ์ แต่นั่นอาจเหลือผลลัพธ์เป็นเพียงความหม่นมัวที่ไม่อาจบรรลุถึงประกายตาแห่งสันติธรรมได้... ดูเหมือนว่าความรักที่โลกมุ่งหวัง ที่สุดแล้วก็ต้องตกอยู่ในน้ำมือของปีศาจร้ายในคราบของสงครามอันไม่รู้จบของชีวิต... สงครามที่หื่นกระหายในการเข่นฆ่าความรักให้ตายไปอย่างโหดร้ายทารุณ... และนี่คือการเบิกประจานแห่งยุคสมัยโดยแท้... ด้วยธรรมชาติอันจริงแท้ของมวลมนุษย์... เราต่างดำรงอยู่บนโลกนี้ด้วยเวลาอันไม่นานนักในฐานะของความเป็นชีวิต... การได้อ่านบทกวีชุดนี้ถือเป็นของขวัญจากวันเวลาที่ผมได้รับจากมิตรผู้เป็นกวีคนหนึ่งซึ่งมีผลงานเป็นสมบัติทางจิตใจ... สะอาด บริสุทธิ์ และงดงามศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอในผัสสะที่เป็นนิรันดร์ของการรับรู้... “ฉันได้แสดงโลกทัศน์ ต้องการมีชีวิตอยู่ ความฝัน ความจริง และอุดมคติ จากสารัตถะของความรักต่อมนุษยชาติ... ฉันเขียนบทกวีมาจากชีวิตและจิตใจ” ความสำเร็จของ “มูฮัมมัด ส่าเหล็ม” ในชีวิตของความเป็นกวีอยู่ที่การสร้างสรรค์ภาวะอันกระทบใจให้เกิดแก่จิตวิญญาณด้วยมโนสำนึกแห่งความหวังที่ตอกย้ำและไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากแก่นแท้ของความดีงาม... อันมีความรักเป็นแรงบันดาลใจต่อการจุดประกายให้เกิดความฝันขึ้นในหัวใจทุกๆหัวใจ และนั่นย่อมคือความหมายในความทรงจำแห่งการยอมรับนับถือในความเป็นจริงของชีวิตหนึ่ง... ชีวิตที่มีบทกวีเป็นลมหายใจของการดำรงอยู่ที่ไม่เคยตายจากไปแม้เมื่อใด “ขอเวลาให้กับความฝันบ้าง ขอเวลาให้กับความรักบ้าง ขอเวลาให้กับจิตใจของเรา วันคืนที่ผ่านมา... เราได้อุทิศเวลามากมาย เพื่อสร้างตึกสูงๆ... เพื่อสร้างบ้านสวยๆ เพื่อเสาะแสวงหาอาหารใส่ท้อง เราต่างก็ได้อุทิศทั้งหมด... ให้กับการตบแต่งประดับประดาซากศพ และโอบกอดเปลือกของกันและกัน ด้วยความยินดี ราวกับว่า... เรามีเพียงแต่ร่างกายเท่านั้น ได้โปรดเถอะ... ให้เวลากับความฝันบ้าง “ได้โปรดเถอะ ขอให้เวลาให้กับความรักบ้าง”