ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจทรุดตัวโดยทั่วไป ผู้คนบาดเจ็บเพราะติดเชื้อถึง 127 ล้านเศษ เสียชีวิต 2.7 ล้าน แต่ก็ใช่ว่าบางส่วนของธุรกิจจะต้องซบเซา ทรุดตัวตามลงไปด้วย จากการสรุปของ FINANCIAL Times of The UK และ Statista of Germany พบว่ามีบริษัทในภูมิภาคเอเชีย 500 บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในบทความนี้เราจะโฟกัสเพียง 7 บริษัท เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาดูว่าเขาทำอะไรจึงได้เติบโตท่ามกลางวิกฤติ บริษัทแรกคือ Carro มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ที่ขายรถมือสองออนไลน์ครองอันดับ 1 และ บริษัทของมาเลเซีย Carsome ซึ่งครองอันดับ 17 และ ขายรถมือสองเช่นกัน ความลับของ Carro คือ การให้ข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้านของรถยนต์มือสองแต่ละคันให้ลูกค้าทราบโดยไม่ปิดบัง ตรงไปตรงมา เพื่อให้ลูกค้าได้พิจารณาประกอบกับราคาว่าสมควรจะซื้อหรือไม่ ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าอย่างยิ่ง ซึ่งในตลาดรถยนต์มือสองโดยทั่วไปเราจะพบแต่การปกปิดข้อบกพร่องของรถ และโก่งราคา ทำให้ผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกถูกต้มขาดความไว้วางใจ ยังมีบริษัทขายที่นอนของอินเดีย Wakefit บริษัท Ninja Logistics ซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ หรือบริษัท Twinny ของเกาหลีใต้ ที่ให้บริการด้าน Robotics ที่เพิ่งเริ่มกิจการ เช่นเดียวกับบริษัท AI Inside ของญี่ปุ่นที่ให้บริการด้าน Software ที่ดำเนินการโปรแกรมการเปลี่ยนข้อมูลลายมือ เป็นข้อมูล Digital สุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ บริษัทของนิวซีแลนด์ที่ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า Electric Kiwi ทั้งหมดนี้มีลักษณะในการประกอบธุรกิจที่เหมือนกันคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกค้า ด้วยบริการคุณภาพ และราคาสมเหตุสมผล การจัดอันดับนี้วัดโดยการเติบโตของรายรับรวมในแต่ละปีของบริษัทตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ถึง 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ยังไม่แพร่ระบาด แต่บริษัทเหล่านี้ถูกมองโดยผู้เชี่ยวชาญว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการธุรกิจในยุคหลังโควิด ยังมีอีกบางบริษัทที่น่าจับตาเช่น Appier ของไต้หวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในญี่ปุ่น และที่น่าสนใจติดตามก็คือ Bilibili หรือเรียกว่ายูทูบของจีน ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของยูทูบ ขณะที่โตเกียวโอลิมปิกยังส่อเค้าว่าคงจะไม่รุ่ง เพราะค่าใช้จ่ายยังคงพุ่งสูง ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมยังคงจำกัดด้วยภาวะโควิด สปอนเซอร์เองก็ไม่ได้ตามเป้า คนญี่ปุ่นเองจากการสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดมีเพียง 23.2% เท่านั้นที่สนับสนุน ทั้งนี้หากมองย้อนในอดีตการจัดการกีฬาโอลิมปิกมักเป็นที่หมายของหลายประเทศที่มีเป้าหมายจะให้กิจกรรมนี้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันนี้คงใช้ไม่ได้แล้ว นอกจากนี้หากมองต่อไปในอนาคตคือการจัดการแข่งขันโอลิมปิกของจีนในปีค.ศ.2022 ที่ใกล้กันมากเพราะญี่ปุ่นต้องเลื่อนการจัดออกมา ก็พบว่าอาจมีปัญหาจากการถูกแซงก์ซั่นจากหลายประเทศในตะวันตก ด้วยปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับชาวอุยกูร์ในซินเจียง ตัวอย่างของสินค้าเช่น Muji ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ฝ้ายจากแรงงานชาวอุยกูร์เยี่ยงทาสในการปลูกฝ้ายอันเป็นวัตถุดิบที่บริษัทจัดหามาผลิตเสื้อผ้าของญี่ปุ่น เรื่องต่อมานอกวงการธุรกิจเข้าสู่แวดวงการเมืองระหว่างประเทศ คือการประท้วงผู้ปกครองคณะทหารในเมียนมา และการใช้กำลังตำรวจทหารปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จนผู้ประท้วงสูญเสียชีวิตไปแล้ว 500 คน ในช่วง 41 วัน ตามรายงานที่เป็นทางการ แค่นี้ก็ติดอันดับโลกในความโหดแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ และไม่มีท่าทางจะหาข้อยุติได้ เพราะมีมหาอำนาจอย่างจีน อินเดีย และรัสเซีย ที่คอยปกป้องคณะทหารเมียนมา ในขณะที่ตะวันตกก็ไม่อาจยื่นมือเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะตนเองก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้นจะพึ่งสหประชาชาติก็ไม่อาจผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงได้ ด้วยรัสเซียกับจีนใช้สิทธิวีโต้ อนึ่งนาโตก็กลายเป็นเสือกระดาษไปแล้วด้วยขาดแคลนงบประมาณและมีปัญหาที่เบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่จัดตั้ง อีกเรื่องที่เป็นเรื่องน่าเศร้าคือเรื่องความเกลียดชังชาวเอเชียที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯและยุโรป ทั้งชาวอาหรับที่อพยพไปอยู่ หรือชาวเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือไทย ที่ไปตั้งหลักแหล่งอยู่นานแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ควรมองแต่ตะวันตกอย่างเดียว แม้ในเอเชียเองก็มีการสร้างความเกลียดชัง เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา แม้แต่การกดขี่คนพื้นเมือง เช่น ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ศรีลังกา เมียนมา จีน และไทย ใช่แต่การประท้วงผู้ปกครองที่เกิดความรุนแรงในเมียนมาเท่านั้น ที่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนต่อคณะผู้ปกครอง แต่การประท้วงในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีมานี้ ก็ก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อรัฐบาลที่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ฉ้อฉล หากยังคงมีประท้วงอย่างต่อเนื่องภายใต้วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำท่าว่าจะเกิดเป็นคลื่นลูกที่ 3 ก็จะทำให้เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ ขณะที่เวียดนามกำลังประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจอย่างงดงาม โดยในช่วงไตรมาสแรก GDP โตถึง 4.5% อันเกิดจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นหลัก และมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ถอนตัวจากไทยไปลงทุนในเวียดนาม อีกด้านหนึ่งคือ ความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะพอมีการเริ่มเจรจาครั้งแรกในยุคไบเดน ก็มีการว่ากล่าวโจมตีกันอย่างรุนแรงแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะยุติ นอกจากความขัดแย้งด้านการค้าแล้ว สหรัฐฯ จีน ก็ยังมีความขัดแย้ง เรื่องทะเลจีนใต้ ที่จีนขยายขอบเขตมาครอบคลุมพื้นที่พิพาทระหว่างประเทศและเส้นทางเดินเรือนานาชาติ เรื่องนี้ก็จบยากและอาจบานปลายเป็นชนวนสงครามได้ สุดท้ายคือกรณีพิพาทในตะวันออกกลางที่สหรัฐฯและพันธมิตรยกกำลังไปแทรกแซงและยึดครองทรัพยากรธรรมชาติ คือน้ำมัน ใน อิรัก ซีเรีย และลิเบีย กำลังถูกต่อต้านโดยคนพื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนของอิหร่าน รัสเซีย จนในที่สุดจีนก็เข้าไปมีบทบาทขยายความร่วมมือกับอิหร่านที่ถูกแซงก์ซั่นจากตะวันตก ตัวจุดกระกายสงครามในตะวันออกกลางอาจกลายเป็นอิสราเอลที่ขู่ว่าจะโจมตีศูนย์พัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าของอิหร่าน เพราะกลัวว่าอิหร่านจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่อิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์เกือบ 200 ลูก ครับนี่ก็เป็นการสรุปสถานการณ์คร่าวๆ ทั้งภาคธุรกิจ และการเมืองระหว่างประเทศในช่วงส่งท้ายปีเก่าไทย ซึ่งก็คงไม่อาจครอบคลุมได้หมด เพราะความจำกัดของพื้นที่ครับ