นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ดัชนีกลับมาลดลงอีกครั้งหลังจากฟื้นตัวเป็นบวกได้ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.5 เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศงดกิจกรรมสงกรานต์ของ ศบค. การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีมาตรการของรัฐบาลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่างๆช่วยเพิ่มกำลังซื้อ โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ระดับ 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 57.7 โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ และคงต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิด-19 รอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนรุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการล็อกดาวน์ในจังหวัดต่างๆหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ได้ สำหรับการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯผ่านสถานบันเทิงซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากอังกฤษที่แพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้นนั้น ส่งผลกับความมั่นใจและกำลังซื้อของประชาชนทำให้มีความวิตกกังวลต่อการใช้จ่ายและการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะทำให้เม็ดเงินจากการบริโภคของประชาชนหายไป ร้อยละ 5-10 หรืออยู่ที่ประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ศูนย์พยากรณ์ฯประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จะสามารถคลี่คลายได้ภายใน 1-2 เดือน ส่งผลทำให้เม็ดเงินหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 60,000-100,000 ล้านบาท หรือกระทบกับ GDP ร้อยละ 0.3-0.5 โดยยังมีปัจจัยหนุนการส่งออกที่เริ่ม ปรับตัวดีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ในขณะที่การค้าชายแดนยังคงทำการค้าได้ จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ในกรอบเดิมที่ร้อยละ 2.5-3.0 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศและห้ามการเดินทางในประเทศเป็นสำคัญ