วันที่ 7 เม.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีศบค.ชุดเล็กยังไม่เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สีเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีการปรับเป็นพื้นที่สีแดง 5 จังหวัดว่า จุดเสี่ยงแพร่ระบาดโรคที่เห็นชัด คือ สถานบันเทิง สถานบริการที่คล้ายสถานบันเทิง ผับบาร์คาราโอเกะ มีการเต้นรำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความแออัด กลุ่มนี้จำเป็นจะต้องปิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด ส่วนร้านอาหารความเสี่ยงแตกต่างกัน หากจัดกลางแจ้ง มีการเว้นระยะห่าง ไม่ดื่มแอลแอฮอล์ ความเสี่ยงน้อย ถ้าจัดสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท แออัด ดื่มแอลกอฮอล์ คุยเสียงดังเกินไปก็เป็นจุดเสี่ยง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรับผลกระทบมากนัก ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดพื้นที่ใหม่ตามสถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งประชุมบ่ายวันที่ 7 เม.ย. โดยสธ. และมท.เห็นตรงกันว่าจะปรับพื้นที่สีใหม่ จะมีการปรับใหม่ และจะมีมาตรการที่เหมาะสมในสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และร้านอาหารอีกครั้ง ขอให้ติดตามข้อมูลต่อไป จะมีการเสนอศบค.ใน 1-2 วันนี้ “สธ.และมท.กำลังหารือให้ได้ข้อสรุป เบื้องต้น 1-2 วันจะเสนอศบค.อีกครั้ง มาตรการคือ ให้ปรับพื้นที่มากขึ้น ไม่ได้ตีตก ดูเหมือนต้องปรับมากขึ้นด้วยซ้ำ การปิดสถานบันเทิงก็ปรับตามพื้นที่สีคือ ปรับพื้นที่สีให้เหมาะสมสถานการณ์ ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับพื้นที่สี และดูแนวโน้มพื้นที่สีอาจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะสถานการณ์กระจายมากขึ้นกว่าเดิม คงรอคุยกันให้ชัด ตอนนี้เห็นพ้องต้องกันเกือบหมดแล้ว รายละเอียดขอให้รอเป็นทางการ ซึ่งการปรับพื้นที่จะดูทั้งผู้ติดเชื้อ การระบาดในพื้นที่ ดูเป็นโซนนิ่ง อาจมีมาตรการให้เดินทางข้ามจังหวัดยากขึ้น เช่น พื้นที่สีแดง มีพื้นที่ส้ม สีเหลืองล้อม” นพ.โอภาสกล่าว ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยเรื่องที่ สธ.ปรับระดับสีพื้นที่ เพราะว่าตอนนี้การระบาดใน กทม.ค่อนข้างเยอะ และการระบาดในรุ่นใหม่เกิดในคนอายุน้อย ก็จะมีจำนวนมากที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จึงเป็นการยากจะรู้ว่าใครป่วยไม่ป่วย จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกัน อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับนโยบาย ทุกอย่างต้องสมดุล คุมโรคแล้วทุกคนอยู่ได้ เราคงไม่เห็นโรคนี้เป็นศูนย์ แต่ทุกคนต้องอยู่ได้ คุมโรคได้ เศรษฐกิจไปได้ ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง