เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ชี้แจงกรณีที่ "กลุ่มนานอกอ่าง" ขอให้อธิบดีกรมชลประทาน ย้าย ผอ.เขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ 24 ชั่วโมง ฝ่าฝืนมติที่ประชุม เก็บกักน้ำเกินมติ ปล่อยน้ำท่วมนานอกอ่าง ส่งผลเกษตรกรไม่ได้ทำนาปรัง นานนับปีว่า ปกติเขื่อนราษีไศล จะทำการเก็บกักน้ำในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่สิ้นสุดฤดูฝน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ประกอบกับราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าเขื่อน ได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการปิด-เปิดเขื่อนราษีไศล ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ศรีสะเกษเป็นประธาน ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเก็บกักน้ำเขื่อนราษีไศลทั้ง 3 จังหวัด(สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีษะเกษ) โดยในปี2564 ได้มีมติให้เขื่อนราษีไศลเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก +119.00 ม. (รทก.) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี สำหรับกรณีที่นายกฤษกร ศิลารักษ์ ร้องเรียนว่าเกิดน้ำท่วมแปลงนานานกว่า 4 เดือนแล้ว ทั้งยังไม่ได้รับการใส่ใจจากผอ.เขื่อนราษีไศล ในการแก้ไขปัญหา นั้น ขอยืนยันว่าตนเองมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ของอบต.ด่าน และอบต.หนองบัวดง เพื่อร่วมกันหาสาเหตุของปัญหาจนพบว่า มีราษฎรในบริเวณทุ่งหนองพอก ซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงกว่า ได้ทำการเปิดน้ำผ่านท่อที่คันกั้นน้ำ เพื่อเอาน้ำเข้านาตนเองทำนาปรัง แต่เมื่อแล้วเสร็จไม่ได้มีการปิดท่อดังกล่าว ทำให้น้ำไหลเข้าไปยังทุ่งหนองแห้วที่มีระดับต่ำกว่า จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้เร่งหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเขื่อนราษีไศล จะระบายน้ำหน้าเขื่อน เพื่อลดระดับน้ำเหนือเขื่อนให้ลงไปที่ระดับ+117.50 เมตร (รทก.) เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ระบายออกสู่แม่น้ำมูลได้เอง ตามช่วงเวลาปกติที่เขื่อนวางแผนระบายน้ำไว้อยู่แล้ว เพื่อเตรียมการรองรับน้ำหลากในฤดูฝนปี 2564(ช่วงปลายมีนาคมเป็นต้นไป) รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเตรียมแปลงเพื่อการปลูกข้าวนาปีได้อีกด้วย ส่วนน้ำที่ยังขังอยู่ในแปลงนา ได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากแปลงนา ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.64 โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ส่วนหนึ่งให้เกษตรกรสามารถทำนาปีได้ด้วย ส่วนกรณีที่นายกฤษกร และพรรคพวกได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 เพื่อเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.64นั้น ได้สั่งการให้เริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.64 ซึ่งสอดคล้องกับแผนการระบายปกติของเขื่อนอยู่แล้ว โดยได้ทยอยลดระดับน้ำหน้าเขื่อนลงให้อยู่ที่ระดับ +117.50 ม.(รทก.) เนื่องจากการลดระดับน้ำเร็วเกินไปจะส่งผลต่อปลาในกระชังของเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่บริเวณบ้านดงแดงใกล้ทุ่งหนองแห้ว อาจทำให้ปลาน๊อคน้ำตายได้ ประกอบกับอาจส่งผลต่อการพังทลายของตลิ่งในแม่น้ำมูลได้ การระบายน้ำจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนราษีไศล ได้ลดลงมาอยู่ในระดับ +117.50 ม.(รทก.) แล้ว และน้ำที่ท่วมขังในแปลงนาได้ระบายลงสู่แม่น้ำมูลอย่างเนื่อง สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป