จากกรณีที่มีข่าวบุคลากรในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ในประเทศไทยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่องในการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทยและเป็นหน่วยงานร่วมกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติและการประเมินความพร้อมของการถ่ายทำละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณาและวีดิทัศน์ในประเทศไทย มีความกังวลในเรื่องนี้และเกรงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะขยายสู่วงกว้างในวงการกองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร โฆษณาและวิดีทัศน์ จนก่อให้เกิดการหยุดชะงักของการดำเนินกิจกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณาและวีดิทัศน์ อีกทั้งอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการทำงานกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศไม่จ้างงานทีมงานคนไทย ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านการภาพยนตร์ ละคร โฆษณาและวีดิทัศน์ นักแสดงและทีมงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับเดือดร้อนทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากงานหยุดชะงักและขาดรายได้
ล่าสุด วันที่ 7 เมษายน 2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวว่า ทาง วธ.ได้ขอความร่วมมือผู้บริหาร ผู้จัดละคร ทีมงานกองถ่ายทำละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณาและวีดิทัศน์และผู้จัดงานกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่รัฐบาลประกาศกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับกิจการการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณาและวีดิทัศน์อย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ
ซึ่งภายในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร โฆษณาและวิดีทัศน์ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ลงทะเบียนแอปพลิเคชันไทยชนะทุกครั้ง และทีมงานแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ฝ่ายเสื้อผ้า ช่างแต่งหน้า-ทำผม ช่างภาพ ช่างเทคนิคหรือฝ่ายสวัสดิการกองถ่ายจะต้องใส่หน้ากากอนามัย มีแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริการตลอดเวลา และมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดอุปกรณ์ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
อีกทั้งนักแสดงและทีมงานขอให้ดูแลตนเองและดูแลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยไม่พาตนเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจัดทำไทม์ไลน์ในแต่ละวัน หากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงขอให้กักตัวเป็นเวลา 14 วันและคอยสังเกตอาการ หากป่วยขอให้รีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นวธ.อาจจะเชิญผู้ผลิต ผู้ประกอบการละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาประชุมหารือเพื่อชี้แจงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และทบทวนแนวทางการดำเนินงานป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น