"ศบค." เผย ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง 334 ราย เชื่อมโยงคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อแล้ว 291 ราย กระจายทั่วทุกภาค เพิ่มความถี่ตรวจตรา ศบค. ยังไม่ปรับระดับสีพื้นที่ รอ "สธ.-มท." ถก 1-2 วันนี้ ย้ำ ก่อนเดินทางข้ามจังหวัด ศึกษามาตรการพื้นที่ให้ดี
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 เม.ย. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 334 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 327 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 174 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 153 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 29,905 ราย หายป่วยสะสม 28,096 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,741 ราย ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมกรณีของนายอภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข หรือแสตมป์ ศิลปิน และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 133,018,307 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 2,885,931 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ เป็นในส่วน กทม. 216 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 83 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 133 ราย นอกจากนี้ ยังมีการสรุปผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์สถานบันเทิง กทม. และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. – 6 เม.ย. รวมทั้งสิ้น 291 ราย แบ่งเป็น กทม. 200 ราย ชลบุรี 23 ราย สมุทรปราการ 18 ราย สุพรรณบุรี 14 ราย นนทบุรี 13 ราย นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 5 ราย เชียงใหม่ ชุมพร สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เลย กาญจนบุรี ตาก ลพบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ยังไม่รวมกับผู้ติดเชื้อในจังหวัดยโสธร เพชรบูรณ์ เชียงราย ที่เพิ่งมีการรายงานเข้ามาว่าเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์สถานบันเทิง กทม. อย่างไรก็ตาม ทางรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้หารือร่วมกับ กทม. ในการออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงใน 3 เขต ได้แก่ วัฒนา คลองเตย และบางแค ระหว่างวันที่ 6-19 เม.ย. รวมทั้งได้มีการทบทวนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการในการกำกับดูแล และเพิ่มความถี่ในการตรวจสถานบันเทิง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากข้อเสนอจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่หารือถึงการทบทวนปรับระดับพื้นที่ กำหนดพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเห็นว่า ตามมาตรการเดิมได้ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการหาข้อสรุปที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด ดังนั้น จะยังไม่มีการปรับพื้นที่หรือปรับสี ขอให้ทั้งสองกระทรวงหารือในรายละเอียดกันก่อน ซึ่งจะมีการหารือกันใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตาม ตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 18 และ 15 ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ระบุชัดเจนว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางป้องกันโรค ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม กำหนดช่วงเวลาให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และมีอำนาจเสนอให้สั่งปิดชั่วคราว นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถพิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วงต่างๆ ได้ และเมื่อในแต่ละพื้นที่มีความเห็นอย่างไรสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ขอให้ติดตามการรายงานของจังหวัดอย่างใกล้ชิด ส่วนการใช้ยาแรงปิดประเทศไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่จะเข้าใจปัญหาของตัวเองและสามารถกำหนดมาตรการได้ดีที่สุด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.ได้มีการรายงานผลการค้นหาเชิงรุกจากกรณีการแพร่ระบาดในสถานบันเทิงไปแล้ว 6 พันกว่าราย เฉพาะเมื่อวันที่ 6 เม.ย. รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ตรวจไปกว่า 1.5 พันราย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนที่เข้าไปยังสถานบันเทิงต่างๆ ให้เข้าไปยังเว็บไซต์ bkkcovid19 เพื่อเข้าไปทำการประเมินความเสี่ยง ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปเพื่อขอให้เข้าตรวจเชื้อทันที และระหว่างผลยังไม่ออก หรือเป็นลบครั้งที่หนึ่งจะขอให้กักตัวก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้เข้าสู่เทศสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัด จึงขอว่าใครที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปจังหวัดใด ขอให้ศึกษาข้อกำหนดของจังหวัดนั้นๆ ด้วย หากจังหวัดกำหนดว่าต้องกักตัว 14 ตัว ก็ต้องปฏิบัติตาม และขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ละพื้นที่อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยในช่วงนี้ ในการติดตามผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับการกระจายฉีดวัคซีนนั้น ข้อมูลวันที่ 6 เม.ย. ขณะนี้มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 274,354 ราย ฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 49,635 ราย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้การจัดหาวัคซีนยังมีจำกัด แต่ในเดือน มิ.ย.เราจะได้รับการกระจายวัคซีนอย่างเหมาะสมและจะมีการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง