จากป่าสู่บ้าน กรมวิชาการเกษตรขยับเต็มตัวปลุกงานวิจัยเต็มสูบ พันธุ์กัญชา-กัญชง หลังสารพันกัญชาเต็มเมืองแต่ไร้ข้อมูลวิชาการเกษตร ย้ำไม่เกินปลายปีพรึบทั้งพันธุ์ ทั้งคำแนะนำพร้อมแผนที่ให้ประชาชนพิจารณา บ้านใครเหมาะไม่เหมาะ
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงงานขับเคลื่อนงานกัญชา-กัญชงของกรมวิชาการเกษตรว่า หลังมีนโยบายการส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ) ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วนในการเข้ามาดูกระบวนการปลูก ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจจะปลูกกัญชาและกัญชง โดยกรมได้จับมือทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดภายใต้กฎหมายที่รองรับ ซึ่งกรมมีภารกิจ ในการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
นอกจากนั้น ยังต้องมีมาตรการควบคุมพันธุ์พืชตามกฏหมายของกรมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชง ของประเทศสามารถที่จะเอื้อประโยชน์กับประชาชน เกษตรกรให้ได้มากที่สุดและมีส่วนในการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้สมกับเจตนารมย์ของโครงการ
ด้านนายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภาระกิจงานของกรมในการขับเคลื่อนงานด้านกัญชานั้นจะเน้นในเรื่องต้นน้ำ ที่จะวิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชา-กัญชง ให้ตอบสนองกับความต้องการใช้ทั้งด้านทางแพทย์ ตลอดจนอุตสาหกรรรมต่อเนื่องของประเทศ เพื่อให้กัญชา-กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถทำให้ประชาชนฐานรากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นผ่านระบบบริหารที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข
โดยงานวิจัยกัญชาของกรมจะมีการดำเนินการ 2 รูปแบบคือ กรมวิจัยเอง กับจับมือสถาบันการศึกษาร่วม ทั้งนี้เพื่อให้ต้นน้ำคือเกษตรกร ได้มีการเตรียมวัสดุปลูก เมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ที่เหมาะสม เพื่อให้สารยาและน้ำมันดีที่สุด
ในส่วนที่กรมวิจัยเองทดลองใน 3 รูปแบบเพื่อเก็บข้อมูลเป็นฐานวิจัยกัญชา-กัญชง ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวและเป็นการศึกษาถึงความเหมาะสมในการปลูกเพื่อถ่ายทอดให้กับประชาชน เกษตรกรจึงต้องครอบคลุมรูปแแบบการปลูกทั้งหมดประกอบด้วย
1.การปลูกแบบเซมิอินดอร์ในโรงเรือนของกรมวิชาการเกษตร บางเขน ซึ่งมีการปรับปรุงอาคารมาทำโรงเรือน ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งในจุดนี้จะทดลองปลูกทั้งกัญชาและกัญชง คาดว่าจะได้ผลผลิตคือเมล็ดประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. จากนั้นกรมจะนำมาคัดพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ดีและเหมาะสมเพื่อขยายไปสู่เกษตรกรต่อไป
2.การทดลองปลูกในระบบปิดที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จะทดลองปลูกทั้งกัญชา-กัญชง ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอาคารเพาะปลูกและบางส่วนสำหรับจัดแสดงการปลูกกัญชา-กัญชง ตั้งแต่การเพาะเมล็ด จนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้ามาชมได้ โดยจะมีการจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนผู้เข้าชมจะชมผ่านห้องกระจกเข้าไปเท่านั้น
3.การทดลองปลูกเฉพาะกัญชง แบบเซมิอินดอร์เพื่อเอาCBD และระบบเปิดเพื่อเก็บเกรนในพื้นที่ศูนย์วิจัยการเกษตร 36 แห่งและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) ทั่วประเทศ โดยกรมจะรวบรวมสายพันธุ์กัญชงทั้งในและต่างประเทศ ทั้งพันธุ์ชนิดเส้นใย พันธุ์ชนิดสกัดสาร CBD และพันธุ์ที่สกัดน้ำมันจากเมล็ด ทดลองปลูกเพื่อวิจัยว่าสายพันธุ์ใดเหมาะสมกับพื้นที่ไหนมากที่สุดและให้สาร CBD และพันธุ์ที่ใช้สำหรับสกัดน้ำมัน และชนิดใดให้สาร THC น้อยกว่า 1 ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นผลผลิตที่สามารถป้อนระบบอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และเครื่องสำอางได้ในอนาคต การวิจัยส่วนที่ 2 คือกวก.จับมือกับสถานศึกษาคือมหาวิทยาสุรนารีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในการพัฒนาสายพันธุ์
“ผลผลิตในระยะแรกต.ค.-พ.ย.64 จะมี 2 แบบคือเมล็ดและกิ่งตัดชำ ที่จะมาจากต้นกล้าพันธุ์ดีผลผลิตชุดนี้คาดว่าจะออกมาทุกจุดทดลอง ซึ่งกรมจะมีการบริหารจัดการให้กับสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ ที่เข้าโครงการตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นกรมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกกัญชา-กัญชง แบ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด ปานกลาง พอใช้ และไม่เหมาะสม พร้อมทั้งกรมได้จัดคู่มือแนะนำในการปลูกให้กับเกษตรกรเร็วๆนี้จะสำเร็จออกมา ในระยะที่สองกรมจะเริ่มพัฒนารูปแบบการปลูกแบบเพาะเนื้อเยื่อ ในระยะต่อไปจะนำไปสู่การยกระดับแปลงปลูกเข้าสู่มาตรฐานการผลิตแปลงจีเอพี”
นอกจากนั้น มีงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ที่ กวก.ทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ กัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล ซึ่งมีเกษตรกร 7 รายเข้าโครงการ ในอนาคตต่อไปหากกระทรวงสาธารณสุขได้ขยายโครงการไปในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ กรมก็พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนทางวิชาการในเรื่องการปลูกและการดูแลควบคู่กันไป
ทั้งนี้ภาระกิจของกรมยังมีในส่วนของการดำเนินการภายใต้กฎหมายของกรมที่ประกอบด้วย พรบ.กักพืช พ.ศ.2507 พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และ พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 ที่กรมจะใช้สำหรับงานควบคุมการนำเข้า การผลิตเพื่อการจำหน่าย โดยล่าสุดคณะกรรมการพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาให้ กัญชา-กัญชง เป็นพันธุ์พืชควบคุม ตามพรบ.พันธุ์พืช มีผลให้การนำเข้าพันธุ์ การผลิตเพื่อการจำหน่าย จะต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิต ความแท้ของสายพันธุ์ หรือเปอรเซ็นต์การงอกเป็นต้น ร่างดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้
การดำเนินการทั้งหมดจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจในการปลูกกัญชา-กัญชง ตั้งแต่รูปแบบของการปลูก ชนิดสายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ที่มีความเหมาะสมกับในแต่ละสภาพพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานกัญชา-กัญชง สำเร็จไปได้ด้วยดี