"จุรินทร์" อ้าแขนรับ "สนธิรัตน์" เข้าปชป. พร้อมเดินหน้าคุย"ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา" แก้รธน."ชินวรณ์" เผย แก้รธน. ปมบัญชีรายชื่อนายกฯ ชงหยิบส.ส.เป็นผู้นำประเทศได้ "ไพบูลย์" ยันไม่ทบทวนร่างแก้ไขรธน. พรรคพปชร. ไม่สนเสียงวิจารณ์ไม่ลดอำนาจ ส.ว. ขณะที่ "ตร.เมืองสงขลา" สรุปสำนวนส่งฟ้อง "บ.พลวิศว์" ปลอมเอกสารประมูลรถซ่อมบำรุง อบจ.มีแววคดีพลิก
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเปิดตัวQR Code Democrat for All เพื่อเปิดรับเลือดใหม่ คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรคพร้อมระบุว่า ไม่ใช่เป็นการนำเลือดใหม่มาเติมเพื่อขับไล่เลือดเก่า รวมถึงกรณี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถ้าสนใจเข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรค ก็ถือเป็นเลือดใหม่เช่นกัน ส่วนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนไม่อยากให้เร่งสรุปว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เป็นความพยายามของพรรคโดยเป้าหมาย2 ข้อ คือ 1.เป้าหมายทางการเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย 2.เพื่อทำให้การเมืองนิ่ง ไม่มีข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุผลทั้ง 2 ข้อ พรรคจึงพยายามผลักดันแก้รายมาตรา ซึ่งยกร่างทั้ง6ฉบับ เสร็จแล้ว หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ถ้ามีความเห็นสอดคล้องกัน ก็นำไปคุยกันในวิปรัฐบาล
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้พรรคได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยแก้ไขทั้งสิ้น 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำได้ง่ายขึ้น โดยให้ใช้เสียงเพียง 3 ใน 5 ซึ่งหลักการนี้ผ่านการเห็นชอบ ของรัฐสภาในตอนที่ได้มีการในการพิจารณาหมดแล้ว 2. การแก้ไขมาตรา 272 กำหนดให้ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกฯ รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 88 และมาตราเกี่ยวกับการส่งบัญชีรายชื่อ 3 นายกฯ เราจะแก้ไขว่า หากนายกฯที่อยู่ในบัญชี 3 คนนั้น ไม่สามารถที่จะเสนอได้ ก็ให้สภาเสนอชื่อส.ส. เป็นนายกฯได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยึดโยงให้นายกฯต้องมาจากประชาชน 3. การกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีการแก้ไข 7 มาตรา โดยนำรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาปรับปรุง ประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับจะต้องมีการเลือกตั้งโดยตรง การบริหารทรัพยากรของท้องถิ่น ต้องเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง มีการเสนอเข้าชื่อและถอดถอน เพื่อให้มีข้อจำกัดและให้ประชาชนสามารถ ที่จะเข้าไปดำเนินการเสนอกฎหมาย บทบัญญัติของท้องถิ่นนี้ได้โดยตรง 4.แก้ไขการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชิญบุคคลมาชี้แจง จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50
5.การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและถอนถอดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ให้เสนอผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งการเสนอเช่นนี้ทำให้การตรวจสอบต้องมายึดโยงกับเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะไม่สุจริต โปร่งใสได้ ดังนั้น เราจึงเห็นว่าควรต้องกลับไปใช้กลไกแบบเดิม กล่าวคือเสนอผ่านองค์กรอิสระ และส่งให้ประธานศาลฎีกา และ6.ระบบการเลือกตั้ง จะมีการแก้ไข 4 มาตรา โดยจะกำหนดให้มีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 เขต เลือกแบบ 1บัตร 1คน และมีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือถึงวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะเป็นแบบใด จะใช้ระบบสัดส่วนร้อยละโดยตรงเหมือนเดิมหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึงระบบการตรวจสอบคนที่เข้ามาในระบบการเมืองต้องโปร่งใส ประวัติดีงาม ดังนั้น มั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้คงจะได้รับความร่วมมือและมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ขอร้องทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ
ส่วน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวถึงร่างแก้ ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคที่ไม่แตะอำนาจ ส.ว. ซึ่งสวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรค จะทำให้การพิจารณาในรัฐสภามีปัญหาหรือไม่ว่า พรรคพปชร. ยืนยันว่าจะไม่ทบทวนหรือแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนยื่นญัตติในวันที่ 7 เม.ย.นี้
"การยื่นญัตติที่ไปลดหรือแย่งอำนาจสมาชิกรัฐสภากลุ่มอื่น เช่น การลดอำนาจ ส.ว.นั้น ส.ว.ก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย ดังนั้น การที่ได้ยื่นญัตติแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าญัตตินั้นจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะหาก ส.ว.ไม่เห็นด้วย ญัตตินั้นก็จะตก พรรค พปชร.จึงไม่แก้ไขเพื่อลด หรือแย่งอำนาจของ ส.ว."
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กรณีการทำขันน้ำกว่า 2 แสนใบ ไปแจกประชาชนในพื้นที่ในช่วงสงกรานต์อาจขัดต่อระเบียบกกต. จึงจะไปร้องเรียนต่อกกต.ในวันที่ 7 เม.ย.64 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต. เพื่อให้ไต่สวนเอาผิดตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ พ.ต.อ.ภูวรา แก้วพารัตน์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้มีหนังสือตอบข้อสอบถามไปยังนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขล (นายก อบจ.) ถึงการดำเนินการสอบสวนและเห็นควรสั่งฟ้อง บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดย นายอิทธิพล ดวงเดือน ในฐานะนิติบุคคลผู้ต้องหาที่ 1 นายอิทธิ พล ดวงเดือน ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 2 และน.ส.ศศิธร ตั้งตรงคิด กรรมการบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จำกัด ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาโครงการซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ 2 คัน จาก อบจ.สงขลา เพื่อวัตถุประสงค์จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยกีดกันมีให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานรัฐ
ล่าสุด พ.ต.อ.ภูวรา กล่าวยืนยันว่า ทางพนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียก ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ข้างต้น และให้มารายงานตัว เพื่อส่งฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ผู้ต้องหามิได้มาตามหมายเรียกมีเพียงหนังสือแจ้งพร้อมใบรับรองแพทย์ เพื่อขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเนื่องจากมีอาการป่วย ซึ่งโดยกระบวนการต่อจากนี้จะมีการออกหมายเรียกอีก 2 ครั้ง หากผู้ต้องหามิได้มาพบพนักงานสอบสวนก็จะออกหมายจับต่อไป
ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดี และโฆษกอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9 กล่าวว่า ทราบว่าจะมีการส่งสำนวนเกี่ยวกับการปลอมเอกสารเกี่ยวการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งสำนวนจะไม่เกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตภาค 9 เพราะว่าทางเรารับสำนวนจากที่ ป.ป.ช.ไต่สวนมา และส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา ส่วนเรื่องที่กำลังจะส่งอีกสำนวนเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับกระบวนการปลอมเอกสาร ซึ่งไม่ได้อยู่ในสำนวนทุจริต แต่ในส่วนของอัยการปราบปรามทุจริตฯ ภาค 9 สำนวนทำเสร็จแล้ว และอธิบดีฯ ได้ลงนามและกราบเรียนไปยังอัยการสูงสูดที่กรุงเทพฯแล้ว เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดสั่งการ
เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างสำนวนที่มีการฮั๊วประมูลและปลอมเอกสารกับคดีของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไว้แล้วนั้น นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ในตอนไต่สวนที่ ป.ป.ช.ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาสามารถที่จะชี้แจงและส่งให้ ป.ป.ช.ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะแยกสำนวนได้ และเป็นคนละการกระทำกัน
"ผู้ถูกกล่าวหาในสำนวน ป.ป.ช.สามารถหยิบยกเรื่องการปลอมเอกสารและฮั๊วประมูลให้ป.ป.ช.พิจารณา ในชั้นไต่สวนตั้งแต่ต้นได้อยู่แล้ว หรือจะนำมาใช้ต่อสู้ในชั้นศาล หากสำนวนนี้มีการนำเข้าสู่ศาลสามารถ จะนำไปต่อสู้ต่อได้ ซึ่งกรณีนี้มีความเชื่อมโยงกับสำนวนที่ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.ที่มีมติชี้มูลความผิดนายนิพนธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา (ปัจจุบันเป็น รมช.มหาดไทย) กรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ มิได้อนุมัติงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ซึ่งขณะนี้สำนวนได้มีการพิจารณาของสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 9 และส่งความเห็นไปยังสำนักอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หาก ป.ป.ช.มีการหยิบยกสำนวนในคดีร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาของบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดย นายอิทธิพล ดวงเดือน และนางสาวศศิธร ตั้งตรงคิด กรรมการบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จำกัด มาพิจารณาหรือแม้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้มีการโต้แย้งและหยิบยกเรื่องนี้มาใช้ในการต่อสู่ในชั้นศาล ก็มีโอกาสที่จะส่อแววว่าคดีนี้อาจจะพลิกก็เป็นได้