เมื่อสัตว์เลี้ยงที่เรารักเสมือนสมาชิกในครอบครัวตายจาก กุศลกรรมที่น่าจะได้ก่อร่วมกันครั้งสุดท้ายอาจหมายถึงการอุทิศร่างของเจ้าตูบ เจ้าเหมียว ให้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อประโยชน์ทางการศึกษาเพื่อสรรพสัตว์ต่อไป แม้จะจากไป แต่ร่างอันไร้วิญญาณของ "สมเหมียว" ยังเป็นประโยชน์ เจ้าของจึงนำร่างเจ้าเหมียว ไปมอบให้ศูนย์กายสัตว์อุทิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์รับบริจาคร่างสัตว์เลี้ยงเพื่อการศึกษาของนิสิตสัตวแพทย์และเพื่อการวิจัย “สมเหมียว เป็นแมวที่น่ารัก ชอบมานั่งตัก มองหน้า ให้กำลังใจเวลาทำการบ้าน วันที่สมเหมียวจากไปอย่างกะทันหัน ทุกคนเสียใจมาก แต่พอรู้ว่าสมเหมียวจะมาเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนิสิตสัตวแพทย์ ความทุกข์ ก็บรรเทาลงอย่างน่าอัศจรรย์” ผู้ที่ใช้นามว่า “นางทาสของสมเหมียว” เขียนไว้ในหนังสือทำบุญและฌาปนกิจของอาจารย์ใหญ่ ทุกปีมีผู้บริจาคร่างเจ้าตูบ น้องเหมียว และสัตว์เลี้ยงแสนรักของตนให้กับศูนย์กายสัตว์อุทิศ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แต่จำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ก็ยังไม่พอ “คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ต้องการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ราวปีละ 200-250 ร่าง เพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ศึกษา แต่ที่ผ่านมาเราได้รับร่างสัตว์เพียงปีละ 180 ร่างเท่านั้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.สิริพงศ์ เกียรติกิตติคุณ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผย พร้อมเชิญชวนให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงแปรเปลี่ยนความรู้สึกสูญเสียให้เป็นบุญด้วยการบริจาคร่างสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตให้เป็นอาจารย์ใหญ่ **สัตว์เลี้ยงแบบไหนเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ ศูนย์กายสัตว์อุทิศเปิดรับบริจาคร่างสัตว์ทุกชนิด ไม่จำกัดอายุ สายพันธุ์ และขนาด อย่างสัตว์ตัวเล็กที่สุดที่เจ้าของเคยนำมาบริจาคคือหนูแฮมสเตอร์ สัตว์แปลกหรือชนิดพิเศษ (Exotic Pet) ก็นำมาบริจาคได้เช่นกัน อย่างที่ผ่านมาก็มี เม่นแคระ แพรี่ด็อก งูแปลกตา และปลาช่อนแอฟริกา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยได้รับบริจาค สัตว์บางชนิด แวดวงสัตวแพทย์ไทยไม่เคยศึกษาหรือไม่มีความรู้ด้านกายวิภาคของสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ร่างสัตว์เลี้ยงที่ไม่รับบริจาคคือสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคที่ไม่อาจเตรียมร่างเพื่อการศึกษาได้ เช่น มะเร็งที่ลุกลาม ร่างสัตว์ที่มีเชื้อโรคติดต่อเรื้อรังจากสัตว์สู่คน เช่น พิษสุนัขบ้า และวัณโรค ** ร่างสัตว์ที่เป็นอาจารย์ใหญ่มากที่สุด การเรียนการสอนของสัตวแพทย์ใช้ร่าง “สุนัข” เป็นอาจารย์ใหญ่มากที่สุด ราวร้อยละ 70-80 รองลงมาคือแมวและสัตว์ชนิดอื่นๆ ร่างสุนัขที่เหมาะเป็นอาจารย์ใหญ่เป็นสุนัขใหญ่ น้ำหนักประมาณ 15-25 กิโลกรัม เนื่องจากอวัยวะมีขนาดใหญ่ มองเห็นชัดเจน ถ้าเป็นแมว ขนาดที่ต้องการมากที่สุดหนัก 3-5 กิโลกรัม แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยินดีรับเช่นกัน **เตรียมร่างสัตว์เลี้ยงเพื่อบริจาค ทันทีที่สัตว์เลี้ยงเสียชีวิต เจ้าของที่มีความประสงค์จะบริจาคต้องเอาร่างสัตว์เลี้ยงใส่ถุงพลาสติกและแช่แข็งที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส แล้วนำมาบริจาคที่ศูนย์ฯ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตาย ถ้าไม่แช่แข็งทันทีหรือแช่นานเกิน 24 ชั่วโมง ก็ยังมาบริจาคได้ เพียงแต่อวัยวะบางส่วนอาจเน่าได้ เช่น อวัยวะทางเดินอาหารหรือลำไส้ ซึ่งไม่อาจใช้ประโยชน์เพื่อศึกษาระบบทางเดินอาหารได้ เมื่อเตรียมร่างเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อศูนย์ฯ แจ้งความประสงค์บริจาคร่างสัตว์เลี้ยงเป็นอาจารย์ใหญ่ จากนั้นจึงนำร่างอาจารย์ใหญ่มายังศูนย์ฯ ชั้น 5 อาคารโรงพยาบาลสัตว์เล็ก เจ้าหน้าที่จะคัดกรองประวัติ พิจารณาสาเหตุการตาย ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง เจ้าของสัตว์เลี้ยงกรอกแบบฟอร์มหนังสือยินยอมมอบร่างสัตว์ เท่านี้เป็นอันเสร็จขั้นตอน **เก็บรักษาร่างอาจารย์ใหญ่ ร่างสัตว์ที่ผ่านเกณฑ์จะถูกเก็บรักษาไว้ให้คงสภาพที่เสมือนจริงด้วยน้ำยาสูตรร่างนิ่ม และเก็บไว้ในห้องอุณหภูมิติดลบ **ทำบุญอุทิศให้อาจารย์ใหญ่ นิสิตสัตวแพทย์จะเรียนรู้ศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่แต่ละร่างราว 1-3 ปี เมื่อเสริจสิ้นภารกิจของร่างอาจารย์ใหญ่แล้ว ทางคณะจะจัดงานบุญเพื่ออุทิศกุศลแก่สัตว์และจัดพิธีฌาปนกิจอาจารย์ใหญ่ มีพิธีสวดบังสุกุล วางดอกไม้จันทน์ และส่งท้ายด้วยพิธีลอยอังคาร โดยคณาจารย์ นิสิต บุคลากรของศูนย์ฯ รวมทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะได้รับเชิญให้มาร่วมงานบุญและฌาปนกิจเป็นประจำทุกปี “การบริจาคร่างของสัตว์เป็นกุศลทั้งตัวสัตว์เองและเจ้าของ เป็นบทเรียนสำคัญของนิสิตว่าเขาได้รับความเมตตาจากเจ้าของสัตว์ที่สละร่างสัตว์แสนรักของเขาให้นิสิตได้เรียนรู้ นิสิตจะได้ตระหนักและสำนึกในบุญคุณของสัตว์ที่ตนใช้เรียนรู้จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา และส่งต่อความเมตตาเหล่านี้ต่อไปให้กับสัตว์ที่เขาจะได้รักษาต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ศิรกานต์ ฐิตวัฒน์ จากหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย ติดต่อศูนย์กายสัตว์อุทิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 09-5851-7807 หรือ 0-2218-9638 (ในเวลาราชการ) และ 0-2218-9752 (นอกเวลาราชการ) เฟซ บุ๊คhttps://www.facebook.com/CUSCDVET