มกอช. สร้างต้นแบบโรงแปรรูปกาแฟไทย พัฒนาวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่เหาะ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการยกระดับมาตรฐานโรงแปรรูปกาแฟภายใต้โครงการยกระดับและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GMP ณ โรงแปรรูปกาแฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการยกระดับและส่งเสริมโรงแปรรูปกาแฟให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GMP ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง เมล็ดกาแฟอะราบิกา (มกษ. 5701-2561) หลักเกณฑ์การปฏิบัติ: หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. 9023–2550) เกษตรอินทรีย์ เล่มที่ 1: การผลิต การแปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกษ. 9000 เล่ม 1-2552) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการผลิตโรงแปรรูปกาแฟ ให้ได้มาตรฐาน มีความพร้อมเพื่อยื่นขอการรับรอง รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลในการให้คำปรึกษา แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพสินค้าเกษตรให้ยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การสำรวจความต้องการ และความพร้อมของกลุ่มเกษตรกร 2.การประเมินศักยภาพและความพร้อมเบื้องต้น (GAP Analysis) 3.การพัฒนาเอกสารระบบคุณภาพต้นแบบ 4.การนำเอกสารระบบคุณภาพไปปฏิบัติใช้ 5.การตรวจติดตามคุณภาพภายใน (Internal Audit) 6.การตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre–Audit) เพื่อประเมินความพร้อมในการขอการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐาน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม และคาดว่าหลังจากนั้นโรงแปรรูปกาแฟบ้านแม่เหาะจะมีความพร้อมยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GMP ต่อไป
ด้านนายมานพ เพียรชอบไพร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงที่มาของกาแฟภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “หอมเหาะ” (Homhoh) ว่าเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอยู่แล้วในบ้านแม่เหาะ ปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2526 เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว ลักษณะการขายเป็นแบบผลสด กับกาแฟกะลาเท่านั้น ไม่มีการแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ต่อมาปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกิดการตั้งกลุ่มกาแฟแปลงใหญ่ จึงตั้งกลุ่มแปลงใหญ่และวิสาหกิจในปีเดียวกันพร้อมกัน ปี 2561 ได้จดทะเบียน ซึ่งเป้าหมายของกลุ่มวิสากิจนี้เพื่อพัฒนาและยกระดับกาแฟที่อยู่ในพื้นที่ให้เกิดมูลค่าที่สูงที่สุด ทางกลุ่มจึงเลือกที่จะทำเป็นบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด กาแฟคั่วดริป ปัจจุบันมีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่เป็นร้านค้ากาแฟที่ไปเสนอขาย อีกกลุ่มเป็นกาแฟสารของชุมชนที่ส่งให้กับโรงคั่วอื่นๆ ที่ต้องการเมล็ดสารจากกลุ่ม
กลุ่มวิสาหกิจนี้ก่อตั้งมา 4 ปีแล้ว มีสมาชิกปัจจุบัน 38 คน จากเดิมทีมี 25 คน คิดเป็นพื้นที่ที่นี่ หมู่ 4 131 ไร่ แต่ยังมีเครือข่ายของกลุ่มแปลงใหญ่ หมู่ 1 ของตำบลแม่เหาะอีกเกือบ 240 ไร่ มีสมาชิก 40 ราย ในปีนี้จะมีการเปิดรับสมาชิกเพิ่มจากคนในชุมชนเพิ่มเพราะว่าหลายคนต้องการส่งกาแฟมาให้ทางกลุ่ม เพราะกลุ่มพัฒนามาจนมีลูกค้ามีออร์เดอร์เข้ามา ทั้งนี้ ตำบลแม่เหาะปลูกกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์คาติมอร์ เบอบอนและเชียงใหม่ 80 ด้วยลักษณะกายภาพที่เหมาะสมทำให้กาแฟมีความสดใหม่ กลิ่นหอมกรุ่น และมีรสชาติโดดเด่น ที่สำคัญกาแฟหอมเหาะยังใช้นวัตกรรมในการแปรรูปกาแฟโดยใช้ห้องลดความชื้นและการอบแห้งกาแฟ ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
โดย มกอช. มาช่วยเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพราะว่าเราผลิตสินค้าเข้าสู่ความเป็นคุณภาพความเป็นมาตรฐานอาหารสินค้า เพื่อให้ได้มาตรฐาน มกอช. มาช่วยให้เรามีมาตรฐาน เราคาดหวังว่าเมื่อเรามีมาตรฐานหรือทำจนผ่านมาตรฐานแล้ว เราจะได้รับความสนใจจากลูกค้าที่กินกาแฟอยู่แล้วหรือกลุ่มบริษัท หรือลูกค้ารายใหญ่ ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เมื่อก่อนเราได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสากกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ในด้านโรงคั่วกาแฟพร้อมเครื่องคั่วกาแฟพร้อมยื่นขอเลขทะเบียน อย. พอเรามีมาตรฐานระดับหนึ่ง จึงมุ่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นเราก็คาดหวังว่าจะได้สร้างความมั่นใจแก่กลุ่มลูกค้าอื่นๆ ลูกค้าที่ส่งสินค้าออกไป เราจะรองรับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ซึ่งเมื่อก่อนก็มีถามว่าคุณมีมาตรฐานอะไร ปีแรกก็บอกว่าไม่มีอะไร ปีที่ 2 ก็บอกว่ามี อย. ก็ได้ลูกค้ามาระดับหนึ่ง หากได้มาตรฐาน GMP ก็น่าจะเป็นผลดีในการเพิ่มช่องทางการขาย ปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์กาแฟของเรามี 3 กระบวนการโพรเซส คือ ดราย ฮันนี่ และ วอชโพรเซส ระดับการคั่ว คั่ว อ่อน กลาง และเข้ม มีแบบกาแฟคั่วเม็ด กาแฟคั่วบดบด และกาแฟดริปกึ่งสำเร็จรูป แยกตามระดับการคั่ว
ทั้งนี้ เลขาธิการ มกอช. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การส่งเสริมให้เกษตรกรยกระดับโรงแปรรูปกาแฟตามมาตรฐาน GMP ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560–2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ ที่ถูกต้อง ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ผลักดันให้ภาคการเกษตรเข้าสู่ระบบการตรวจรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับการผลิตกาแฟให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก”