เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 5 เมษายน 2564 ที่ห้องโถงชั้น 4 อาคารผู้โดยสารขาออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พลโท ปรีชา เบ็ญจขันธ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ( ECO ) ได้ร่วมกันเปิดแถลงการณ์ดำเนินการฉีดวัคซีน Sinovac COVID - 19 ที่เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ได้รับการสนับสนุนจัดสรรวัคซีน Covid – 19 จากรัฐบาล ผ่านกรมควบคุมโรค ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศกว่า 3 หมื่นคนให้ได้รับวัคซีน Covid – 19 เป็นการเร่งด่วน โดยได้มอบหมายให้บุคคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลบางพลี ร่วมกับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค สำนักงานควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี จัดเจ้าหน้าที่มาให้บริการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ คาดกว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้
โดยนาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ พลโท ปรีชา เบ็ญจขันธ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ( ECO ) ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac COVID – 19 ในครั้งนี้ด้วย
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานและลูกจ้างของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทุกคน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่เป็นด่านหน้าในการให้บริการผู้โดยสาร และมีความใกล้ชิดกับผู้โดยสาร และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค Covid-19ได้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้สนับสนุนพื้นที่ โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงประจำท่าอากาศยาน (ศปม.ทย.) ให้บริการฉีดวัคซีน Covid – 19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดพื้นที่บริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาออกชั้น 4 ฝั่งตะวันออก โซนเอ ให้เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน Covid – 19 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทุกคนที่มีอยู่กว่า 3 หมื่นคนให้ได้รับการฉีดวัคซีน Covid – 19 จนครบทุกคนภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้
สำหรับจุดให้บริการนี้จะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนใหญ่ แบ่งเป็น 9 จุดย่อย ประกอบด้วย จุดตรวจสอบรายชื่อ ลงทะเบียน ขั้นตอนที่สองคือ จุดวัดสัญญาณชีพ คัดกรองความเสี่ยง และการลงบันทึกการเข้ารับบริการ ขั้นตอนที่สามคือการฉีดวัคซีน และการบันทึกข้อมูลระบบติดตามวัคซีน ขั้นตอนสุดท้ายคือการเฝ้าสังเกตอาการหลังการฉีดวัคซีนเป็นเวลา 30 นาที และการรับแจ้งนัดฉีดวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 นี้ และเป็นการป้องกันการระบาดภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ ว่าการใช้บริการจะได้รับความปลอดภัย
นายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง เราอยากสร้างในเรื่องของความปลอดภัย ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง รวมทั้งอีกหลาย ๆ แห่งตาม เรามีระบบในการคัดกรองซึ่งมีการคัดกรองมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของอู่ฮั่นแล้ว จนมาถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้น และในส่วนของการดำเนินการของการมีวัคซีนจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคคลากร ที่ได้รับวัคซีนก็จะลดอาการความรุ่นแรงหรือลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงจากการที่อาจจะมีกาติดเชื้อได้
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของการท่า หรือเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการบินเราจะไม่มีการติดเชื้อก็ตาม แต่ก็เพิ่มความปลอดภัยตรงนี้ด้วย อีส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ เราก็เชื้อว่าถ้าเราฉีดได้ในจำนวนที่มากพอ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันที่เราเรียกว่าภูมิคุ้มกันชุมชนหรือภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญว่าสมานบินหรือการท่าต่าง ๆ ของเรามีความปลอดภัยมากขึ้น วันนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ร่วมการท่าและภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทหาร ส่วนของด่านต่าง ๆ หรือภาคเอกชนต่าง ๆ ก็นำวัคซีนมาดำเนินการฉีดให้ ก็เรียกได้ว่าเป็นฉีดนอกสถานที่ของหน่วยพยาบาล ซึ่งเราก็ได้เตรียมในเรื่องความปลอดภัยเอาไว้ด้วย มีการเตรียมสถานที่สังเกตอาการและจัดเตรียมรถพยาบาลเอาไว้ด้วย ก็ต้องบอกได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ที่ตนเชื่อว่าน่าจะมีการเปิดประเทศได้อีกไม่นานนี้