ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ทำให้มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาบ้างแล้ว พร้อมสั่งการทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (5 เม.ย.64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,853 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,571 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 5.69 ล้าน ลบ. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 1.81 ล้าน ลบ. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 0.66 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 1.82 ล้าน ลบ.) ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่แห้งแล้งได้พอสมควร ทั้งนี้ อีกประมาณ 1 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานทุกแห่งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมขอให้ติดตามสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอใช้ไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนหรือมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง