นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จะนำผลการศึกษาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากโครงสร้างภาษีใหม่จะต้องเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 จึงต้องการสรุปรายละเอียดเพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและเตรียมปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ จะต้องตอบโจทย์ 4 เรื่อง คือ 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4. ด้านการดูแลบริหารจัดการบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม ภายใต้โจทย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ โครงสร้างภาษีใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มผู้ค้าบุหรี่บางกลุ่มต้องการ เพราะว่ามีข้อเสนอที่สุดโต่งเกินไป
นายลวรณ กล่าวอีกว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวเหมือนต่างประเทศ หรือตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน โดยจะมีการปรับให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากที่สุด จึงยังบอกไม่ได้ว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะอัตราเป็นอย่างไร จะเป็นอัตราเดียว หรือหลายอัตรา
"โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการเสนอผลการศึกษาให้ รมว.การคลัง พิจารณาเห็นชอบมากกว่า 1 ทางเลือก ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เสนอว่าให้มีการจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่ 3 อัตรา โดยมีอัตราต่ำขึ้น เพื่อทำให้ ยสท. ขายบุหรี่ในราคาถูกได้นั้น ก็เป็นการเสนอได้ ส่วนการตัดสินใจทั้งหมดเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิต" นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่เฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งหมด ทั้งผู้ค้า และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ขายใบยาสูบได้ลดลง ซึ่งทางกรมสรรพสามิตได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้มาเป็นเวลา 2 ปีก่อนเรื่อง
ล่าสุดกรมสรรพสามิตได้เสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณปี 2564 วงเงิน 159 ล้านบาท ในการจ่ายชดเชยให้ผู้ปลูกใบยาสูบในปีการผลิต 2564