สวพ.8 เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์ หนุนเกษตรกร ตามบันใด 5 ขั้นและตอบสนองแผนแม่บทเกษตรชาติระยะ 20 ปี พร้อมเชิญชวนเกษตรกรสามารถยื่นของรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์แบบสมัครใจได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกจังหวัด
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากแผนแม่บทเกษตรชาติระยะ 20 ปี ได้กำหนดเรื่องเกษตรปลอดภัยไว้ในเป็น 1ใน 5 ของแผนแม่บทที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น สวพ.8 จึงได้เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการปลูกแบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยการผลิตแบบปลอดภัยจะมีการรับรองมาตรฐาน GAP และในการผลิตแบบอินทรีย์จะมีการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand เกษตรกรสามารถยื่นของรับรองได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกจังหวัด รวมทั้งผ่านหน่วยงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ซึ่งสามารถขอรับรองเป็นรายพืชแบบเดี่ยวๆ หรือแบบหลายชนิดทั้งฟาร์มก็ได้ นอกจากนี้แล้วเกษตรกรยังขอรับรองมาตรฐานการแบบชุมชนมีส่วนร่วม หรือมาตรฐานของจังหวัดต่างๆ ได้ตามที่หน่วยงาน กลุ่ม เครือข่ายสมาพันธ์หรือภาคเอกชนตามที่ได้มีการขับเคลื่อนกันในหลายพื้นที่
ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 สวพ 8 จะมีงานหลายโครงการที่นำมาขับเคลื่อนขยายการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์ เช่น การขยายผลการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศตรูพืชและแหนแดง เพื่อสนับสนุนเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดย จัดตั้งจัดตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้มีชีวภัณฑ์พร้อมใช้ในชุมชน ตามบันใด 5 ขั้น คือ 1) ผลิตชีวภัณฑ์และแหนแดงในศวพ และนำมาอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในชุมชนที่ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน(ศชช.) 2) รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้ชีวภัณฑ์และอบรมให้ความรู้เกษตรกรในการนำไปใช้ให้ถูกต้องได้ผล 3) ติดตามให้คำปรึกษาแนะนำที่ไร่นาเกษตรกรจนเกษตรกรมีการใช้อย่างได้ผล 4) ส่งเสริมการผลิตชีวภัณฑ์ใช้เองในบางชนิดที่เหมาะสม 5) พัฒนาเกษตรกรมีรายได้จากบริการและสินค้าที่ผลิตโดยใช้ชีวภัณฑ์ ซึ่ง ศชช.นี้ มีการตั้งที่ชุมชนต้นแบบในจังหวัดสงขลา โดยร่วมกับ ศทอ.สงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร และร่วมกับสภาเกษตรกรที่จังหวัดพัทลุง และจะมีการขยายการให้บริการในรูปแบบชุมชนที่ ยะลา และอีกหลายจังหวัดต่อไป
นอกจากนั้นมีการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบและชุมชนต้นแบบเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ เช่น “ชุมชนป่าขาดโมเดล เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” และ “ชุมชนบ้านแคโมเดล ชุมชนพอเพียง เกษตรยั่งยืน” ที่จังหวัดสงขลา เป็นต้น มีการเชื่อมโยงสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกับผู้รวบรวมสินค้า โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ขณะที่เกษตรกรดีเด่นจะมีการคัดเลือกเกษตร GAP และ อินทรีย์ดีเด่นในภาคใต้ตอนล่างทุกปี โดยในประจำปี 2564 นางศิริกุล โกกิฬา ผอ.กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ8 ได้แจ้งผลการคัดเลือกเกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น คือ นายนิวัฒน์ เนตรทองคำ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ.2560 และคงไว้ซึ่งการรับรองมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการบริหารจัดการสวนตามหลักพืชอินทรีย์ของนายนิวัฒน์ ในการจัดการด้านพื้นที่ปลูก มีการปลูกพืชผสมผสานทั้งแปลง ได้แก่ ลองกอง ผักกูด ผักหวาน ผักเหลียง มะนาว ชะอม ไผ่ มะละกอ กล้วย ส้มจี๊ด ข่า ตะไคร้ มะกรูด พริก พริกไทย ผักโขม และหม่อน แหล่งน้ำ: มีการขุดสระภายในแปลง และใช้น้ำจากประปาภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจากน้ำตกโตนงาช้าง มีการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ การวางแผนการจัดการ: มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนทางดินมีแนวกันชนทั้ง 4 ทิศ เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์: ได้จากขยายพันธุ์ด้วยตนเองจากแปลงปลูก และทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีไว้เป็นต้นพันธุ์ต่อไป
การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน: มีการทำปุ๋ยหมักใช้เอง ไม่มีการเผาทำลายเศษซากพืชภายในแปลง มีการถอนกำจัดวัชพืช และปลูกพืชอาหารเป็นพืชคลุมดิน การจัดการศัตรูพืช: ใช้วิธีการจัดการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) โดยไม่ใช้สารเคมี มีการจัดการแมลงศัตรูพืช ให้นกและแมลงตัวห้ำในแปลง วัชพืช ใช้วิธีการถอนและปล่อยเป็ดให้กินวัชพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว: มีการรวบรวมผลผลิตมาตัดแต่งผลผลิตที่เสียหายออก และบรรจุใส่ถุง รอจำหน่าย มีการทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อนนำมาใช้ และมีการบำรุงรักษาให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ในส่วนของผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเหลือจากการตกแต่ง นำไปทำปุ๋ยหมักต่อไป มีการบันทึกข้อมูลเพื่อการทวนสอบ
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเพิ่มหรือดูงานได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา โทรศัพท์ 074 445905-7