สำหรับความคืบหน้าการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า พรรคก้าวไกลได้พูดคุยกันถึงรายละเอียดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายไพบูลย์ออกมาเสนอ มีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย อาทิ การขอแก้มาตรา 144 เรื่องที่ไม่ให้ ส.ส.แปรญัตติงบประมาณ โดยอ้างว่าเพื่อ ส.ส.จะได้มีงบลงไปช่วยประชาชน แต่เรามองว่าเรื่องอำนาจในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ควรมอบให้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่ตัว ส.ส. หากแก้ไขไม่ให้ ส.ส.แปรญัตติงบได้จริง จะเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรเสียพรรคก้าวไกลจะต้องเดินหน้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรายมาตราหรือทั้งฉบับ แต่อยากให้แก้ไขเรื่องต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง
นายพิจารณ์กล่าวด้วยว่า ส่วนการขอให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เรื่องนี้ที่จริงไม่อยากออกตัวว่าควรแก้หรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายมองว่าพรรคก้าวไกลได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ยอมรับบัตรใบเดียวหรือระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมไร้ประสิทธิภาพ มีสูตรคำนวณ ส.ส.ที่ตลก คะแนน 3-4 หมื่นก็ได้เข้าสภาแล้ว การจะแก้เรื่องบัตรเลือกตั้ง จะต้องคุยถึงรายละเอียดว่าจะแก้อย่างไร กลับไปใช้ 2 ใบแบบปี 2540 ก็ใช่ว่าจะสะท้อนเสียงประชาชนทั้งหมด ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต แบบแบ่งเขต 44 เปอร์เซ็นต์ แบบบัญชีรายชื่อ 48 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับได้ ส.ส.ในสภา 57 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะไม่สะท้อนได้ดีพอ การกลับไปใช้บัตรสองใบแบบปี 2540 ใช่ว่าจะดีกว่าปัจจุบันทั้งหมด
"ในพรรคก้าวไกลมีการพูดถึงกรณีวงหารือของนักวิชาการที่ออกมาเเสดงความเห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบผสม ซึ่งอยู่ในร่างสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอไว้ในปี 2558 แต่สุดท้ายถูกคว่ำร่างทิ้งไป ระบบเลือกตั้งแบบ MMP วงนักวิชาการมองว่าได้รับการยอมรับกว่าของปี 2540 ในหลายประเทศใช้ เช่น ยุโรป อเมริกาใต้ สะท้อนเสียงประชาชน ใช้บัตร 2 ใบก็จริง แต่เอาคะแนนดิบบัญชีรายชื่อ มาคำนวณ ส.ส.พึงมี ซึ่งชัดเจนและตอบโจทย์เสียงประชาชน" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า เมื่อประชาชนทั้งประเทศได้เห็น พปชร.ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 7 เมษา. จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศเชื่อมั่นในความจริงใจและจริงจังของ พปชร. ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประโยชน์จริงๆ กับประชาชน เพิ่มสิทธิเสรีภาพ และแก้ไขปัญหาให้ ส.ส.สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ และ พปชร.จะเป็นผู้นำในการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ ตามที่ประชาชนจำนวนมากต้องการ
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมายอมรับว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้หารือเรื่องการแก้ไข รธน. ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ จึงเห็นว่าหากพรรคเพื่อไทยมัวแต่ใช้เวลาคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดหรือแย่งอำนาจจากสมาชิกรัฐสภากลุ่มอื่น เพื่อมาเพิ่มอำนาจกลุ่มตนเอง ซึ่งสมาชิกรัฐสภากลุ่มที่ถูกลดหรือแย่งอำนาจย่อมมีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างนั้น เป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมและพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรงก่อน เพราะต้องการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันให้ได้ตามความต้องการของพวกตนก่อนใช่หรือไม่
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนอยากเห็นการพูดจริงทำจริงเพื่อประชาชนอย่างพลังประชารัฐมากกว่าการที่พรรคเพื่อไทยที่มีแต่คำพูดวาทกรรมสวยหรู แต่ไม่ทำอะไรจริงๆ จังๆ ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย หวังว่าพรรคเพื่อไทยจะเร่งร่วมยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่าง พปชร.โดยเร็วกว่านี้ ไม่ควรใช้เวลานานอย่างที่เป็นข่าว
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเบื้องต้นมี 4 ประเด็นคือ การปรับเปลี่ยนหน้าที่และอำนาจของ ส.ว., การปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง, บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะประชุม ส.ส.วันที่ 6 เม.ย. เพื่อรับฟังความคิดเห็นหาบทสรุปแนวทางของพรรค ก่อนจะนำไปหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 7 เม.ย. เชื่อว่าแนวทางนี้ไม่ได้ล่าช้า และแนวทางนี้คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าดำเนินการเพียงพรรคเดียว
ขณะที่วันเดียวกันนี้ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนได้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,942 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 มองว่าคนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะต้องการเปิดช่องทุจริต โกง ในบางมาตรา และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ห่วงนักการเมืองแก้ไขมาตราให้ดัดแปลงงบประมาณได้ง่าย ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะเปิดช่องให้ไปสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ ในขณะที่ส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 93.2 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายของคนในชาติ
นายนพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.1 เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เสรีภาพที่จำเป็นแก่ประชาชนแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 16.9 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ระบุนักการเมืองเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศและประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 19.8 ระบุรัฐธรรมนูญเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศและประชาชนมากกว่า และร้อยละ 4.3 ไม่มีความเห็น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ เพื่อเป้าหมายทางการเมืองและประโยชน์ของแต่ละกลุ่มตระกูลและเครือญาติที่พยายามผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ส่งต่อสืบเนื่องกันมา มากกว่าประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ เช่น แก้เพื่อได้เปรียบทางการเมือง แก้เพื่อเปิดช่องตักตวงประโยชน์ แก้เพื่อลดความเสี่ยงผิดกฎหมาย หรือแก้แม้กระทั่งเปลี่ยนสมดุลสู่การสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารยังไม่ปรากฏเชิงประจักษ์ให้เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีประโยชน์อย่างไรต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เสรีภาพที่จำเป็น มุ่งคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และมิได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตปกติของประชาชน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและความเจริญของประชาชน กลับกลายเป็นนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคน ที่ปลายทางมักไม่พ้นอำนาจและผลประโยชน์ โดยพยายามลากปัญหาทุกเรื่องให้ผูกไว้กับการแก้รัฐธรรมนูญ หากลงลึกจริง ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันคือปัญหาใหญ่และเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของคนในชาติ ที่จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน