สำหรับกิจกรรม ซิตี้รัน...มันส์ฟันเว่อร์ ส่งท้ายไตรมาสแรกของปี เป็นกิจกรรมที่ทาง กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ได้มอบนโยบายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้น เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเพิ่มเติมทั้ง 4 ภาค หวังกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวไทยให้ต่อเนื่อง ก่อนเปิดประเทศช่วงตุลาคม 2564 นี้ โดยทาง ททท. ได้เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อไป เบื้องต้นคาดใช้ 5 เมืองท่องเที่ยวหลัก จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ พัทยา สมุย หวังปั้นเป็นกิจกรรมกระตุ้นกระแสท่องเที่ยวเชิงกีฬารูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามีผู้ร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 50,000 คน
วันที่ 4 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายเขมพล อุ้ยตยะกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นางทิพวรรณ นิธิเจษฎาวงศ์ ผู้อำนวยการมิชลินไกด์ ประเทศไทย, นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยแลนด์ไตรลีก ผู้จัดงานฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร, เหล่านักวิ่งจากชมรมวิ่งทั่วกรุงเทพฯ ร่วมกิจกรรมวิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬารูปแบบใหม่ ภายใต้ชื่อ อะเมซิ่งไทยแลนด์ ซิตี้รัน...มันส์ฟันเว่อร์ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของกิจกรรม
โดยได้เริ่มวิ่งจากเสาชิงช้า เพื่อไปเก็บคะแนนในจุดเช็คพ้อยท์ตลอดเส้นทาง อาทิ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานครเข้าสู่ถนนกัลยาณ-ไมตรี (กระทรวงกลาโหม), สะพานปีกุน ซึ่งระหว่างทาง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แวะทักทายร้านอาหารชื่อดังที่ได้รับการรับรองจาก มิชลิน ไกด์ เช่น ร้านแซ่พุ้น, ร้าน ก.พานิช ก่อนที่จะมาแวะรับประทานอาหารเช้าที่ ร้านยี่ สับ หลก ร้านอาหารชื่อดังในย่านดังกล่าว พร้อมมอบของที่ระลึกเป็นกำลังใจให้แก่ร้านชื่อดังทั้งสามร้านอีกด้วย
"กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหนึ่งในกระทรวงหลักที่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมในการเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขด้านการสาธารณสุขที่ต้องระมัดระวังขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถเกิดขึ้นภายในประเทศได้อีกเป็นระลอก ดังนั้น การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเดินทางมาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ภายในประเทศ จึงต้องออกแบบให้ดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งทางด้านการสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป” นายพิพัฒน์ กล่าว
ซึ่ง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การวิ่ง ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการทำให้เกิดกระแสการเดินทางมาท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จของการจัดมาราธอนที่บุรีรัมย์ ที่สามารถดำเนินการไปได้อย่างคู่ขนานไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 มีประชาชนเดินทางไปร่วมแข่งขันถึง 20,000 คน ถือเป็นตัวอย่างที่ดี และสร้างความมั่นใจในการบริหารงานด้านการท่องเที่ยวและสาธารณสุขของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้งานดังกล่าว จัดโดย ททท. ที่จัดนำร่องตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่ในช่วงเฝ้าระวังสูง เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และสามารถจัดงานออกมาได้ดี มีการป้องกันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในทุกขั้นตอน จนทำให้ประชาชนทั่วไป และเหล่านักวิ่งเป็นจำนวนมากออกมาร่วมในกิจกรรม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมนำร่องให้ส่วนภูมิภาคต่างๆ นำเอาโมเดลของการจัดงานแบบนี้ไปใช้ได้ และได้มอบหมายให้ ททท. จัดทำโครงการวิ่งซิตี้รัน ในรูปแบบนี้ โดยให้ไปจัดในภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาค ตามแนวคิด ว่า จากเมืองกรุง สู่เมืองรอง โดยตั้งเป้ามีประชาชนที่ชื่นชอบในสุขภาพโดยเฉพาะการวิ่งมาร่วมในโครงการประมาณ 1 แสนคน
ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กิจกรรม ซิตี้รัน...มันส์ฟันเว่อร์ ถือเป็นกิจกรรมที่มีจุดขายของตัวเอง เพราะนอกจากจะสามารถดึงดูดให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย ให้ความสนใจและออกมาร่วมกิจกรรมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ของทุกๆ สัปดาห์แล้ว ยังก่อให้เกิดการใช้สอยขึ้น เพราะระหว่างทางทุกคนต้องแวะซื้อน้ำ แวะทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งถือว่านอกจากจะช่วยให้ประชาชนเกิดสุขภาพที่ดี แข็งแรง และปลอดภัยโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากโครงการนำร่องนี้ ทาง ททท. จะตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ ในการนำเอากิจกรรม อะเมซิ่งไทยแลนด์...ซิตี้รัน ไปจัดในส่วนภูมิภาคต่างๆ แล้วจะรีบนำมาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต่อไป โดยตั้งเป้านำไปจัดในจังหวัดเป้าหมายที่ ททท. กำหนดเป็นจังหวัดนำร่องในการรับนักเที่ยวต่างชาติ คือ จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดกระบี่, เมืองพัทยา และเกาะสมุย คาดว่าจะสามารถจัดได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) เพื่อใช้เป็นกิจกรรมสร้างกระแสความตื่นตัวด้านการท่องเที่ยวโดยใช้กิจกรรมกีฬาเป็นเครื่องมือ ตั้งเป้าหมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 50,000 คน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น