นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารฯได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 ส่งผลการดำเนินงานในปีดังกล่าวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม แต่ในส่วนของไตรมาสแรกของปี 2564 แม้จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ช่วงปลายปีก่อน จนส่วนหนึ่งของประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อบ้าน แต่การดำเนินงานยังอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้โดยมี สินเชื่อใหม่ช่วง 1 มกราคม – 31 มีนาคม ราว 46,847 ล้านบาท จาก 29,945 บัญชี ลดลง 10.79% แบ่งเป็นสินเชื่อวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาทรวม 20,686 ล้านบาท และเกิน 2 ล้านบาทอีก 26,161 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างรวม1,346,920 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4,857 ล้านบาท คิดเป็น 4.07% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.60% จาก ณ สิ้นปีก่อน ที่มี NPL 47,572 ล้านบาท ทั้งนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้น มาจากลูกค้าปัจจุบันที่ครบมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19 ระยะที่ 1 และไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือของธนาคารระยะที่ 2 ประกอบกับมีลูกค้าบางส่วนที่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ จำนวน 3,098 ล้านบาท และอีก 122 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่มาจากการรับโอน Port ลูกหนี้หลังการควบรวมกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ขณะที่ความช่วยเหลือลูกค้าที่ ผ่าน "โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564" ด้วยมาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ และการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าเดิมที่เคยอยู่ในมาตรการปี 2563 โดยภายหลังจากปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขยายความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการ 117,765 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 112,694 ล้านบาท โดยมีลูกค้า 103,587 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 98,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ที่มีสถานะการผ่อนชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ส่วน การขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในมาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 ที่เปิดให้ลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 1-29 มีนาคม 2564 พบว่ามีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 5,285 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 5,364 ล้านบาท นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธนาคารฯได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 100,502 ล้านบาท รองรับผลกระทบในอนาคต หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 183% สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงและความพร้อม โดยเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่มีการตั้งสำรองในระดับสูงเกิน 100,000 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.60% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ธนาคารฯมีกำไรสุทธิจำนวน 3,300 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารฯซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มุ่งเน้นการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่มีปัญหา มากกว่าจะเน้นสร้างกำไรจากการดำเนินงานเหมือนเอกชน “แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา NPL คือ การหาผู้กู้ร่วมฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในชำระหนี้แต่ละเดือน และขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งโครงการสินเชื่อ 2 GEN ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานนี้ แต่จะเน้นความเป็นบัดดี้ในการกู้ร่วม หรือร่วมในมูลหนี้ก้อนเดิมมากกว่า" นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับช่วงเวลา 9 เดือนที่เหลือจากนี้ ธนาคารฯจะเน้นสร้างความเข้มแข็งให้งบแสดงฐานะการเงิน (บาลานซ์ ชีท) โดยจะเกาะลูกค้าในข่ายจะเป็น NPL เพื่อจะได้แก้ไขปัญาหให้ทันท่วงที ขณะเดียวกัน จะนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงานมากขึ้น พร้อมกับ "รี สกิล" พนักงานบางส่วน ที่เทคโนโลยีเข้ามาแย่งงาน ปรับตัวรองรับการทำงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อและจำหน่ายสลากออมทรัพย์ผ่านช่องทางของโมบายแบงก์กิ้ง ทั้งหมดเพื่อที่จะลดต้นทุนการดำเนินงาน แล้วไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อใหม่ที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ ทั้งเป้าจะกดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ทั้งนี้ การให้บริการทางการเงินและสินเชื่อผ่านแอปฯ GHB ALL ภายใต้ โครงการ G H Bank New Normal Services ที่ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 นั้น ปัจจุบันมีบริการรวมทั้งสิ้น 15 บริการ นำสู่การยกระดับเป็น Digital Service Bank ในปี 2564 และก้าวเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบในปี 2566 ล่าสุด ธนาคารฯยังเตรียมเปิดช่องทางการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่บน Application LINE โดยใช้ชื่อว่า GHB Buddy ซึ่งจะทำหน้าที่แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวบัญชีของลูกค้าเป็นรายบุคคลในธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน-ชำระเงินกู้-เตือนชำระเงินกู้-ถูกรางวัลสลากออมทรัพย์ และจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน 2564 ขณะเดียวกันยังได้จัดทำโครงการ G H Bank Smart NPL เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการประนอมหนี้ สำหรับลูกหนี้ กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SM) และ กลุ่มหนี้เสีย (NPL) โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นเรื่องขอประนอมหนี้ที่ธนาคาร ผ่านแอปฯ GHB ALL ด้วยการเลือกรายการ G H Bank Smart NPL และอัพโหลดเอกสารที่แสดงผลกระทบทางรายได้ เพื่อรับการพิจารณาปรับลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ยังเพิ่มทางเลือกในการซื้อ-ขายบ้านมือสองผ่านโครงการ G H Bank Marketplace โดยรับเป็นตัวกลางรับฝากขายบ้านมือสอง ผ่านทาง www.ghbhomecenter.com และ Application : G H Bank Smart NPA รวมถึงนำออกประมูลออนไลน์ที่มีเป็นประจำทุกเดือน ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารฯสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ได้แล้วเป็นจำนวนถึงกว่า 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการจำหน่ายทรัพย์ทั้งปีที่ 4,000 ล้านบาท อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของ โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 กรอบวงเงินรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-4 ปีแรก เท่ากับ 1.99% ต่อปี ระยะเวลาการกู้สูงสุด 40 ปี สามารถเลือกการผ่อนชำระได้ 2 ทางเลือก อาทิ กรณีกู้ 1.2 ล้านบาท ทางเลือกที่ 1 ผ่อนชำระเงินงวดคงที่ 1-4 ปีแรก อยู่ที่ 3,900 บาทต่อเดือน หรือทางเลือกที่ 2 ผ่อนชำระคงที่ 7 ปีแรก อยู่ที่ 5,000 บาทต่อเดือน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการธนาคารฯพิจารณา หากเห็นชอบจะเร่งนำส่งให้กระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและกำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินโครงการระยะที่ 2 ต่อไป