TED Fund กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น ติดตามความคืบหน้า 2 โปรเจ็คใหญ่ โดรนเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ และโปรตีนทางเลือกใหม่จากจิ้งหรีดส่งออกต่างประเทศ ผุดเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศ 32 แห่ง กระจายการเข้าถึงให้ทุนนิสิตนักศึกษา ตั้งแต่ 1 แสนถึง 1.5 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) พร้อมด้วยดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนฯ ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการของผู้ประกอบการที่ได้ทุนสนับสนุนจากโครงการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือเทคฟันด์
โดย ศ.ดร.ศุภชัยฯ เปิดเผยว่า กองทุนเทคฟันด์ ดำเนินการโครงการมาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 - 2564 โดยคำนึงถึงนโยบายหลักของรัฐบาลในการนำประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ และการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการพัฒนาธุรกิจ โดยมี เทคฟันด์ เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนมี 2 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มแรก คือ นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาไม่เกิน 7 ปี หรือบุคลากรในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพ ทุนมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท และ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี และหรือวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่มีนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตบจบใหม่ ถือหุ้นในบริษัทมากกว่า 31% ขึ้นไป โดยกลุ่มนี้จะได้รับการสนับสนุนทุนตั้งแต่มูลค่า 100,000-1,500,000 บาท
ประธานเทคฟันด์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เทคฟันด์ สนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการ จำนวน 284 โครงการ ทำในเรื่องของ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น ในวงเงินงบประมาณรวมกว่า 370 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2564 จะมีกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ TED Fellow ภายใต้การดูแลโดยเทคฟันด์ ขึ้นมา มีทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 32 หน่วยงาน ขึ้นเป็นเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งคลอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โดยภาคกลาง มีจำนวน 15 หน่วยงาน, ภาคเหนือ มี 7 หน่วยงาน, ภาคอีสาน มี 5 หน่วยงาน และภาคใต้ มี 5หน่วยงาน โดยสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครทุนได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th หรือเพจ Facebook : TED Fund หรือโทร 02 - 333 -3700 ต่อ 4072 - 4074 ทางกองทุนฯ รอต้อนรับน้องๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และก้าวเติบโตไปด้วยกัน
ด้าน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อมาดูผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบการควบคุมประมวลผลภาพดิจิทัลทุกรูปแบบร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้อากาศยานไร้คนขับร่วมกับระบบประมวลผลภาพดิจิทัลในการเพาะปลูกเปรียบเทียบกับการเพาะปลูกแบบปกติ เพื่อนำไปใช้ในงานด้านการเกษตร เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรไทย ลดการใช้แรงงานในการผลิต และ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก โดยมีจุดเด่นคือ ความสามารถในการควบคุมตำแหน่งความสูงที่ถูกต้องแม่นยำและมีความเสถียรภาพของอากาศยาน สามารถพ่นสารน้ำ สารชีวภาพ การให้ปุ๋ย และพ่นสารกำจัดแมลง ที่สำคัญ ยังได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ในระยะเวลาอันสั้นและมีความแม่นยำสูง ประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเดิม ช่วยให้พืชผลเพิ่มประสิทธิภาพให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถเก็บข้อมูลภูมิสารสนเทศอื่น ๆ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ดิน น้ำ พืชพรรณ จะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนและหลังเหตุการณ์
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการต่อมา คือ โครงการโปรตีนทางเลือกใหม่จิ้งหรีด โดยการพัฒนาระบบการผลิตโปรตีนเข้มข้นผงจากจิ้งหรีดด้วยเทคโนโลยีการสกัดด้วยน้ำร้อนภายใต้ความดันและการทำแห้งแบบโฟมแมท เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้า และสามารถขอใบรับรองมาตราฐานทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศและเพื่อพัฒนาต่อยอดสิ้นค้าเดิม โดยมีงานวิจัยรองรับ เพิ่มคุณสมบัติให้ผงจิ้งหรีดมากขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการที่มากขึ้น สร้าง Unfair Advantage ให้แก่ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก โปรตีนจากจิ้งหรีด เป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศอย่างมาก
“ในปัจจุบันมีเกษตรที่ลงทะเบียนกับกรมปศุสัตว์โดยประมาณ 70 หลังคาเรือน แต่ละหลังคาเรือนให้ผลผลิตจิ้งหรีดสด 500-1000 กิโลกรัม/หนึ่งรอบการผลิต ผู้ประกอบการที่เทคฟันด์ให้ทุนสนับสนุน จึงผลักดันฟาร์มมาตรฐานขนาดเล็กและอาคารแปรรูปขนาดเล็ก ที่เป็นตัวอย่างในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพ และรับซื้อจิ้งหรีดเพื่อแปรรูปเป็น Cricket Flour โดยได้รับโอกาสจาก กรมปศุสัตว์ส่วนกลาง ในการเป็นฟาร์มต้นแบบนำร่องกฎหมายมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดประเทศไทย หรือ GAT: Good Agricultural Practice เพื่อให้ได้จิ้งหรีดที่สะอาด สามารถส่งออกได้ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น” ดร.ชาญวิทย์ กล่าว
++++++++++++++++++++++++++++++++++++