เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) พร้อมด้วยพล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) นายชีวะภาพ  ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ และ นายสมชาย เลขาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6(อุดรธานี) สนธิกำลังกับตำรวจภูธรจังหวัดเลย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ฝ่ายปกครอง และตำรวจทางหลวง ร่วมกันปฏิบัติยุทธการ "ทวงคืนผืนป่า เยียวยาผืนดิน" ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยส้มและป่าภูผาแดง ท้องที่ บ้านห้วยส้มใต้ ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนการอยู่อาศัยและทำกิน ในพื้นที่ของรัฐ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งให้หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ผาขาว ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินอยู่อาศัย ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยส้มและป่าภูผาแดง ท้องที่ บ้านห้วยส้มใต้ เพื่อประกอบการพิจารณาผ่อนผันอยู่อาศัย ทำกิน ในพื้นที่ป่าตามมติ ครม. 21พ.ย. 61 ปรากฏว่ามีแปลงยางพาราขนาดใหญ่และปาล์มน้ำมัน เนื้อที่กว่า 512 ไร่ไม่มีผู้มาแสดงตัวเป็นผู้ถือครอง จึงมีการรายงานถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ก่อนประสานกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกัทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กก.3 บก.ปทส.) เพื่อร่วมทำการสืบสวนและแฝงตัวในพื้นที่ จนพบเบาะแสว่ามีการบุกรุกถือครองใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย โดยมีมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นประมาณ 34 ล้านบาท  จากการสืบสวนทราบกลุ่มนายทุนที่ทำการบุกรุกป่าแล้ว ขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานในการเอาผิด เบื้องต้นพบว่าเป็นกลุ่มนายทุนภาคเอกชน แต่หากพบว่ามีข้าราชการกลุ่มใดเข้าไปบุกรุกถือครองก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น  ซึ่งเดิมเราได้ให้ทางชาวบ้านมาแสดงสิทธิทำกิน แต่ปรากฎว่าพื้นที่แปลงนี้เนื้อที่กว่า 512 ไม่มีผู้ใดมาแสดง  ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปทส. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการบุกรุกป่า รวมทั้งนำแนวทางปฎิบัติในครั้งนี้เป็นโมเดลตั้งต้น ในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตามการดำเนินการครั้งนี้เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้ ซึ่งในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ทวงคืนพื้นป่าคืนกว่า 3 แสนไร่ จากเดิมที่หายไปปีกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการบุกป่า ผบช.ก.กล่าว พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า มาตรการฟื้นฟูพื้นป่า หลังจากนี้ทุกภาคส่วนจะต้องมาร่วมมือกันอาจจะต้องทำในเรื่องของการทำโครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นการปลูกป่ากันมามาก แต่เราไม่เคยปลูกป่าในใจคน เมื่อปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งขาดการดูแล ซึ่งจากนี้ต้องมาหารือกันเพื่อที่จะสร้างความยั่งยืน และปลูกจิตสำนึกในการหวงแหนผืนป่าให้กับคนในชาติ ซึ่งในส่วนปัญหาภัยแล้งก็ดี  พระราชโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในเรื่องของการสืบสานรักษาต่อยอดมาตั้งแต่ทีแรก ซึ่งในส่วนนี้จะดึงจิตอาสาเข้ามาร่วมฟื้นฟูสภาพป่า  " หลังจากนี้ทางบก.ปทส.จะทำการสืบสวนหาตัวกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ ซึ่งบก.ปทส.จะรับคดีเองและขออนุญาตสอบสวนจาก บช.ก. เพื่อเป็นการป้องปรามการบุกรุกพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน ที่ยังคงพบอยู่ทั่วประเทศในหลายๆ พื้นที่ สำหรับการเยียวยาผืนดินให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งเป็นเรื่องที่กรมป่าไม้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันดำเนินการต่อไป"