ด้านหนึ่ง ที่ฟากถนน “ม็อบราษฎร” พากันตะโกนขับไล่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าของรหัส “สนามไชย 1” ว่า “ออกไป ๆ”
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ส.ส.ในปีกพรรคฝ่ายค้านออกมากดดัน ให้พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตัว เตรียมใจแสดงสปิริต ว่าด้วยการ “ยุบสภาฯ” หรือ “ลาออก” หาก ร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเสียเอง
หมายความว่า เวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ กำลังรับมือและเผชิญกับเสียงขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ไปจนถึงการยกเอา “ความรับผิดชอบ” ขึ้นมากดดัน หากที่สุดแล้ว “ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” ไม่ผ่านรัฐสภา ในวาระ 3
การออกมาประสานเสียงของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ทั้งในท่วงทำนองทวงถามความรับผิดชอบ หากร่างกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ซึ่งกฎหมายประชามติถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญคู่กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีอันต้องถูกโหวตคว่ำ ไม่ว่าจะด้วยการใช้กลไกในสภาฯ อย่าง “250 ส.ว.” โหวตคว่ำ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 มาแล้วก็ตาม
แต่เมื่อหากร่างกฎหมายประชามติ ไม่ผ่านรัฐสภา ขึ้นมาจริง รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ไม่ได้ !
ถามว่าเหตุใด ส.ส.ฝ่ายค้านจึงเชื่อและมองเช่นนั้น ก็คงตอบได้ไม่ยาก เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดรายการเล่นเกม “สกัดแก้รัฐธรรมนูญ” โดยอาศัยเวทีรัฐสภาจนสามารถคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ด้วยสาเหตุที่ว่า รัฐบาลไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
จนในที่สุดส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องกลับมาเริ่ม “นับหนึ่ง” กันอีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนแนวทาง จากเดิมที่หวังจะได้ “รื้อทั้งฉบับ” ก็พลิกมาแก้ “เป็นรายมาตรา”แทน เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งการแก้ไขก็ต้องใช้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อไปสอบถามความเห็นของประชาชน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายค้านจะมั่นใจว่า ฟากรัฐบาลจะต้องหาทาง “สกัดทุกทาง”เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการคว่ำร่างพ.ร.บ.ประชามติ ยื้อเวลาจนกว่า พรรคการเมืองในปีกของรัฐบาลได้หมดวาระ และไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ภายใต้ “รัฐธรรมนูญ2560” ฉบับที่เอื้อต่อฝ่ายรัฐบาลนั่นเอง
อย่างไรก็ดี กระแสการยุบสภาฯ หากถูกโหมกระพือจากฝ่ายค้าน ย่อมมองได้ว่า เป็นมุมมองจากฝั่งตรงข้ามที่หวังจะได้มีโอกาส เปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง !
แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากขั้วอำนาจรัฐบาลเอง อย่าง “กลุ่ม3ป.” ของสามพี่น้อง “บิ๊กตู่” , บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ใช่ว่าจะอยู่ในความสงบ
ในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่า กระแสข่าวว่าด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ยิ่งสะพัด อย่างหนัก จนล่าสุด มีบุคคลขอยื่นจดทะเบียนตั้ง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อพรรคนั้นช่างสอดคล้องกับ นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เจ้าตัวพูดถึงบ่อยครั้งเรื่อง รวมไทยสร้างชาติ ว่าที่สุดแล้วนี่คือ “พรรคสำรอง” สาขาที่สองของพรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ใช่หรือไม่
เมื่อเกิดความสงสัย จึงกลายเป็นคำถามที่พุ่งเข้าใส่ ทั้ง 3ป.ทั้งเรื่องกระแสตั้งพรรคการเมืองสำรอง ควบคู่ไปกับโอกาสและความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ ซึ่งมาสอดคล้องและพ้องเข้ากับเงื่อนไขที่ว่า “หากร่างพ.ร.บ.ประชามติ” ไม่ผ่านรัฐสภา นายกฯจะต้องแสดงความผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาฯหรือลาออก !
ทว่า การตัดสินใจทั้งสองทาง สำหรับรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ กลับมีแนวโน้มว่า ยังห่างไกลจากความหวังของ “พรรคฝ่ายค้าน” อย่างชัดเจน
เพราะ หนึ่ง เวลานี้ ส.ว.เตรียมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า กรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติให้แก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยเพิ่มอำนาจรัฐสภาและภาคประชาชนสามารถส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติได้ จากเดิมให้เป็นดุลพินิจของ ครม.ฝ่ายเดียว อาจขัดกับมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่
เนื่องจากส.ว.มองว่าการแก้ไขมาตรา9 จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ยิ่งถ้าให้ต้องทำประชามติทุกเรื่องตามที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอมา ก็อาจยิ่งมีปัญหา ถ้าต้องทำประชามติในทุกเรื่อง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ อีกทั้งยังมองว่าเป็นการแก้ไขที่เรียกว่า “เกินกรอบรัฐธรรมนูญ”
แน่นอนว่าความเห็นของส.ว.ที่เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ย่อมไปพ้องกับความเห็นของส.ส.รัฐบาล เช่นกัน เพราะอาจเข้าข่ายความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ
และสอง คือสัญญาณจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ในฐานะมือกฎหมายรัฐบาลเอง ที่ออกมาเปิดช่องเอาไว้ว่า ร่างกฎหมายประชามติเป็นร่างกฎหมายสำคัญ ที่เป็นกฎหมายปฏิรูป และเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งร่างจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
“ถ้ารัฐบาลเสนอวาระ 1 ไม่ผ่าน จะมีผลกระทบ เช่น ต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะนั่นแปลว่าสภาไม่ไว้วางใจ แต่การที่ร่างประชามติผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว และมีการแก้ไขถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจึงแตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องของการไม่ผ่าน”
หมายความว่า ผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือยุบสภาฯ จะต้องเริ่มจากการที่ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไม่ผ่านตั้งแต่วาระที่ 1 แล้ว แต่นี่ล่วงเลยเข้าสู่วาระ 2
ดังนั้น ใช่ว่า แม้มีเสียงเรียกร้องจาก “ม็อบราษฎร” ออกมาตะโกนขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ หรือการที่พรรคฝ่ายค้านหยิบเอาเงื่อนไข ที่ว่าหากร่างกฎหมายสำคัญไม่ผ่านรัฐสภาแล้วรัฐบาลต้องไป มาเป็น “เงื่อนไข” บีบให้ “3ป.” ต้องเดินตามเกมนั้นคงไม่ใช่ เพราะอย่าลืมว่า วันนี้ทั้ง บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่และบิ๊กป๊อก ต่างเดินทางมายาวไกล บนถนนสายการเมืองถึง 7 ปี หรืออาจมากกว่านั้น
ลำพังจะให้น้ำหนักต่อแรงเสียดทาน จากฝ่ายต่อต้านที่ไม่มี “พลัง” มากพอ จึงไม่ใช่สาระ เพราะแม้แต่ “พรรคฝ่ายค้าน”เองก็ยังไม่มีใครพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้งด้วยซ้ำ
เพราะไม่มีใครมั่นใจได้ว่า จะเหลือส.ส.กลับเข้าสภาฯมาได้กี่ที่นั่ง หลังจากที่ประเมินสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา แล้วพบถึงปรากฏการณ์ “ล้มช้าง” คะแนนเลือกตั้งพลิกล็อคในหลายพื้นที่ !
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วใช่ว่า ฝ่าย “3ป.” และรัฐบาลจะถือแต้มต่อ ไปเสียทั้งหมด เพราะการตัดสินใจลาออกหรือยุบสภาฯ นั้นจะต้องมีขึ้นในภาวะที่รัฐบาลสะสม “คะแนนนิยม”ได้มากเพียงพอ จากสารพัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงยังต้องเหลียวไปมอง บรรดา “ส.ส.งูเห่า” ที่ฝากเลี้ยงเอาในพรรคฝ่ายค้าน ว่าจะสามารถ ทิ้งพรรคเก่าแล้วย้ายมาอยู่พรรคใหม่ได้ทันตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้หรือไม่
แต่ที่แน่ๆ การเลือกตั้งใหม่ โดยการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเหลือระยะเวลาเอาไว้ให้ “250ส.ว.” ได้อยู่ต่อ ไปจนครบวาระ 5ปีที่รัฐสภา แล้วรอวันยกมือโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ ในวาระที่ 3 ชนิดที่เรียกว่า จะต้องไม่มีอะไร “ผิดแผน” !!