บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) เทศกาลผลัดใบของท้องถิ่น เริ่มมาได้ 2 ผลัดแล้ว คือผลัดแรกการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผลัดที่สองเพิ่งหมาดๆ การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ส่วนผลัดที่สาม คือการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล อบต. ท่านผู้รู้คาดการณ์ว่าเลือกตั้งประมาณวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ส่วนผลัดสุดท้ายผลัดที่สี่ผลัดที่ห้าคือการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เมืองพัทยา ประมาณ ช่วงกันยายน-ตุลาคม 2564 จะเรียกว่า “เปลี่ยนใบผลัดใบ” หรือ “ผลัดแผ่นดิน” ก็คงไม่ผิด เพราะมันสะเทือนไปถึงคนใกล้ชิดของนักการเมืองที่มาใหม่ก็ต้องเปลี่ยนด้วย หมายถึง ข้าราชการ ลูกจ้างส่วนท้องถิ่นที่อยู่เดิมหากเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามแต่ขาดความใกล้ชิดในบทบาทหน้าที่ อาจต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสองผลัดดังกล่าวข้างต้น ขอเล่านิยายเพื่อประดับความรู้แก่คนวงนอกในมุมมองของคนรากหญ้าท้องถิ่นสักนิด ปัญหาหลักของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ส่วนกลางพยายามวางหลักการบริหารไว้มี 2 ประการ (1) ท้องถิ่นต้องไม่ใช่ On size fit all หมายความว่า ระบบบริหารจัดการแบบตัดเสื้อโหลเดียวเหมือนกันหมดทุก อปท.จะใช้ไม่ได้ เพราะ อปท. แต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน (2) ระบบการบริหารงานบุคคลที่ “เกิดที่ไหนตายที่นั่น” ในหลายๆ กรณีใช้ไม่ได้สำหรับท้องถิ่น เพราะ อปท. แต่ละแห่งมีโครงสร้างแตกต่างกัน มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้โครงสร้างการบริหารที่แตกต่างกันชัดเจน เช่น อปท. เล็กๆ ไม่มีกรอบอัตราหัวหน้าฝ่าย หรือ หากมีก็น้อยอัตรา หรือ กรอบอัตราปลัด อปท.ระดับสูงไม่สามารถกำหนดกรอบอัตราได้ใน อปท.ขนาดเล็ก เป็นต้น ข้าราชการส่วนท้องถิ่นยอมรับในข้อ (2) มานานแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้ด้วยพลังของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเอง เพราะโครงสร้างการบริหารงานบุคคลที่บิดเบี้ยว (Abused) ที่มอบอำนาจการบริหารงานบุคคลให้แก่นายก อปท. มากเกินมากล้น เพราะอำนาจการกำหนดมาตรฐานกลาง มาตรฐานทั่วไป ที่ ก.กลาง และ ก.จังหวัดได้กำหนดกรอบโครงสร้างไว้แล้วโดยยึดถึงปริมาณงาน จำนวนประชากร จำนวนงบประมาณในการบริหารงาน (ทั้งหมด) จำนวนร้อยละงบประมาณโครงการการพัฒนา และจำนวนร้อยละงบประมาณการบริหารงานบุคคลของ อปท.เป็นเกณฑ์ชี้วัดในการกำหนดโครงสร้างฯ อปท. ที่อปท.หลายๆ แห่งไม่สามารถกำหนดกรอบอัตราตำแหน่งโครงสร้างฯ เพื่อรองรับความเติบโตก้าวหน้า (Career Path) ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้เลย ก็เพราะว่า ระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น จะนำระบบบริหารราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคมาใช้เทียบกันไม่ได้ กล่าวคือ ระบบท้องถิ่น จะไม่มีระบบ impeachment ข้าราชการพนักงานลูกจ้างส่วนท้องถิ่นได้แบบอิสระเหมือนดังข้าราชการพลเรือนส่วนกลางส่วนภูมิภาคที่สามารถเลื่อนไหลไปที่ใดก็ได้ ตามอิสระ ตามกรอบอัตราตำแหน่งว่าง ฉะนั้นหากมีความอึดอัด ไม่เหมาะสมในท้องที่หนึ่งก็สามารถย้ายไปอยู่อีกท้องที่หนึ่งได้ หรือไปเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในอีกท้องที่หนึ่งได้ไม่มีขีดเงื่อนไขใดๆ กำกับ แต่ปรากฏว่าของท้องถิ่นนั้น หากมีปัญหาการบริหารงานที่ไม่เข้าขากัน หรือที่เรียกเป็นศัพท์ท้องถิ่นว่า “เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น” ก็ต้องเป็นภาระของ ก.กลาง ที่ต้องมาดำเนินการแก้ไข ล่าสุดปัญหานี้ยังคงอยู่ ไม่มีวันจบสิ้น คือ ข้อ 3 และข้อ 4 แห่ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ในกรณี “เกิดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระหว่างข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชน และไม่สามารถดำเนินการโอนข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นระหว่าง อปท.ตามหลักความสมัครใจได้” เป็นต้น การซื้อสำนวนคืออะไร อย่างไรก็ด้วยด้วยเหตุว่า ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นถูกครอบงำจาก ราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคมาก โดยเฉพาะ “ผู้กำกับดูแล” (ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ) ที่เป็นตัวแปรที่อาจแทรกแซงอำนาจการบริหารราชการของนายก อปท.ได้โดยตรง เช่น ในสำนวนการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง อาจมีการแทรกแซงได้ง่าย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม หรือไม่สนองนโยบายผู้กำกับดูแล ที่อาจถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้โดยง่ายกว่าฝ่ายที่นายก อปท. เป็นพวกเดียวกับผู้กำกับดูแล หรือ ในสำนวนการสอบสวนวินัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ฝ่ายตรงข้ามนายก อปท. มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษทางวินัยได้มากกว่าฝ่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นพวกเดียวกัน โดยเฉพาะการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ในคดีทั่วๆ ไป หรือคดี ป.ป.ช. ที่มีอัตราโทษไล่ออก หรือปลดออก เป็นต้น เป็นที่สังเกตว่าพฤติการณ์เช่นนี้ แต่เดิมมีเสียงเล่าขานว่ามีการ “ซื้อสำนวน” เพื่อให้กรรมการสอบสวนเบี่ยงประเด็น ตีข้อกล่าวหาตกไป เพื่อเสนอสำนวนให้ผู้มีอำนาจตีตกสำนวนไป ที่อาจมีในหลายๆ รูปแบบได้ เป็นปัญหาว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นหลายราย ไม่สามารถย้ายหรือเปลี่ยนที่ทำงาน ที่หมายถึงความเติบโตก้าวหน้าในชีวิตราชการของเขาได้ หลายรายสมัครใจย้ายหนี แต่หลายรายไม่มีที่จะย้ายไป ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนบริบท บทบาทในการทำงานใหม่ของข้าราชการฝ่ายตรงข้ามผู้บริหารชุดใหม่ รวมทั้งผู้ที่ทำงานไม่เข้าใจกรรมการฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็น น่าสนใจว่า เรื่องล้มสำนวน ซื้อสำนวน ที่มี บางทีกินตามน้ำ ปล่อยให้หลุด ตีตกไป หรือปล่อยให้ลืม ปล่อยให้เรื่องหายไป เช่น ผู้มีอำนาจ หรือมีเส้นสาย ลากยาวจนลืม จนเรื่องหายไป หาไม่เจอ รวมถึงการกดดัน ชี้นำ ชี้ธง คณะกรรมการสอบสวนฯ การแต่งตั้งพรรคพวกกันร่วมเป็นกรรมการสอบมาฟอกขาวสำนวน การข่มขู่กรรมการสอบสวน การสร้างพยานเท็จ การตบรางวัลกรรมการมากๆ ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้กรรมการสอบกลัว สำนวนจะได้เป็นไปตามใบสั่ง ตามธง ของผู้มีอำนาจ เพราะ คนที่อยู่ใน อปท.นั้น พอจะแบ่งกลุ่มพวกได้หยาบๆ ใน 3 พวกคือ (1) พวกถนัดวิจารณ์คนอื่น มากในวิชาการ หลักการข้อกฎหมายฯ (2) พวกคนปฏิบัติงาน มดงาน หรือคนทำงาน แบบไม่หวังผลตอบแทน ทำงานลูกเดียว เหมือนดังจักรกล และ (3) พวกตัวป่วน หาเรื่องโต้แย้ง ตำหนิ ไม่สร้างสรรค์ หรืออาจตามน้ำไป ที่มีแนววิสัยทัศน์แบบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ซึ่งคน 3 พวกดังกล่าวไม่มีคนพวกใดดีเลย ฉะนั้นต้องมี “คนพวกที่ 4” พวกที่ผสมผเสกันในลักษณะของคน 3 พวกนี้อย่างสมดุลกัน เป็นพวก “จิ้งจกเปลี่ยนสี พวกปรับตัวเก่ง พวกยอมรับการผลัดใบ” เป็นพวกประสานประโยชน์เก่งฯ เป็นต้น ว่ากันว่ายังคงมีการซื้อสำนวนกันอยู่ หากไม่เชื่อก็ลองไปสอบถามกันเอาเอง ฐานคะแนนของนักเลือกตั้งท้องถิ่นมาจากไหน คนท้องถิ่นต้องรู้จักว่า “ใครเป็นใคร” ในการประเมินการผลัดใบของข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น ต้องดูกระแสการเมืองท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ท้องถิ่น “คือการเมือง” โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง หรือที่เราเรียกว่า “นักเลือกตั้งท้องถิ่น” จากข้อมูลการเลือกตั้งเทศบาลใหม่ครั้งนี้พบว่า ฝ่ายของขั้วอำนาจเดิม ที่อาจเรียกว่า “ฝ่ายบ้านใหญ่เดิมของท้องถิ่น” ถูกฝ่ายตรงข้าม ที่อาจมีทั้งฝ่ายหัวก้าวหน้า หรือ ฝ่ายตรงข้าม หรือ ฝ่ายคนกลุ่มใหม่ ที่ไม่ใช่ฝ่ายบ้านใหญ่เดิม ก็แล้วแต่จะเรียกขานกัน ด้วยระบบการเลือกตั้งนับคะแนนแบบ “The winner take all” ทำให้ผู้ที่ทำคะแนนเพียงแค่ชนะ (สูงสุด) แม้จะชนะกันเพียง 5 คะแนน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ฝ่ายบ้านใหญ่” ได้กลับเข้ามาบริหารท้องถิ่นได้ไม่ถึงครึ่ง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าฐานคะแนนของการเลือกตั้งจะแตกต่างจากฐานคะแนนของ ส.ส. หรือการเลือกตั้งระดับชาติ พอจะเปรียบเทียบกันดังนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมีคะแนนเสียงมาจาก 2 ทาง คือ (1) “กระแสเสียง” มาจากความดีที่ติดตัวมากับผู้สมัคร เกิดจากแรงกระตุ้นของทุนทางสังคมในพื้นที่โอบอุ้ม ทำความดีไว้มากเป็นทุนเดิม เรียกว่า “เสียงดี” หรือ “คะแนนแห่งความดี” (2) “กระสุน” เป็น “คะแนนจากการเดินหาเสียง” คะแนนนี้ที่จริงอาจเป็นคะแนน “จัดตั้งของกลุ่มการเมืองใหญ่ที่มาช่วยเหลือก็ได้” ที่เป็น “กองหนุน” ให้ เป็นคะแนนที่ผู้สมัครต้องลงทุนเดินหาเสียง หาคะแนนมาให้ตนเองได้คะแนนสูงสุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ รวม “คืนหมาหอน” ด้วย เป็นการ “ตอกฝาโลงตอกย้ำชัยชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด” นี่เป็นช่องทางในการ “ซื้อเสียงนั่นเอง” นี่เป็นปัจจัยที่ผู้สมัครที่ไม่มีเงิน ไม่มีงบประมาณแพ้การเลือกตั้ง สรุปว่า นักการเมืองท้องถิ่นนั้น เพียงลำพังมี “เสียงดี” อย่างเดียว โดยไม่มี “ทุน” ไว้ต่อสู้การเลือกตั้งโอกาสชนะยากอยู่ เป็นได้เพียง “ไม้ประดับการเลือกตั้งให้มีสีสัน” เท่านั้น ผลพลอยได้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อข้าราชการท้องถิ่นทั้งทางตรงทางอ้อม จิ้งจกจะเปลี่ยนสีก็คราวนี้แหละ