วันที่ 02 เม.ย.64 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
ความแตกต่างในการให้ประกันตัว ตามม.110 และม.112
-อ่านข่าว ศาลให้ประกันตัว นายเอกชัย หงส์กังวาล กับพวกในข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ซึ่งเป็นการขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินี อันเป็นการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินี)
-ความจริง ความผิดมาตรา 110 มีอัตราโทษจำคุก ตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี โทษตามม.110 มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดตามม.112 มาก (ม.112 คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์) มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
-แต่ทำไม ศาลให้ประกันโทษตามม.110 ที่มีโทษสูงกว่าม.112 หากติดตามข้อเท็จจริงและเหตุผลของศาล จะเห็นว่า ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวโทษตามม.112 เพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยมีพฤติการณ์"กระทำซ้ำ" ตามข้อหาที่ถูกฟ้อง ส่วนข้อหาตามม.110 นั้น โอกาสที่จะกระทำซ้ำมีน้อยหรือเกือบไม่มีเลย
-ความผิดตามม.110 ซึ่งเป็นการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีนั้น เท่าที่ผมจำได้ ตั้งแต่มีกฎหมายตามมาตรานี้ ไม่เคยปรากฎว่ามีคนไทยคนไหนประทุษร้ายต่อพระองค์หรือต่อเสรีภาพของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี ขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี เสด็จผ่านไปทางไหน คนไทยมีแต่แย่งกันเข้าเฝ้าเพื่อถวายความจงรักภักดี อยากอยู่ใกล้พระองค์ให้มากที่สุด
-หากเราใช้เหตุผลพิจารณาจะเห็นว่า ศาลพยายามห้ามมิให้"กระทำซ้ำ" ตามม.112 ใครก็ตามที่ยังมิได้กระทำ ก็อย่าคิดกระทำ ใครที่ทำแล้วก็อย่า"กระทำซ้ำ" ก็คงได้ประกันตัว เมื่อเร็วๆนี้ ศาลก็ให้ประกันตัวนายอนุชา ผู้ต้องหาตามม.112 ไปคนหนึ่ง จะเห็นว่า แม้ถูกกล่าวหาตามม.112 บางคนก็ยังได้ประกันตัว มิใช่ศาลไม่ให้ประกันตัวทุกคน ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของแต่ละคน
-ผมกล่าวโดยสรุปว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามม.112 บางคนก็ได้ประกันตัว ผู้ถูกกล่าวหาตามม.110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินี ที่มีโทษสูงกว่า ม.112 ก็ยังได้ประกันตัว อยู่ที่ทนายความจะอธิบายลูกความของตนให้ปฏิบัติตัวอย่างไร และอยู่ที่ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาเองจะพยายามเข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ทำตัว และ ตัวทำ ผมเขียนชัด และอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แล้วนะครับ