ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนที่ผิดพลาดแล้วรู้แก้ไข คือคนที่โลกให้อภัยและยกย่องนับถือ
การทำงานในฐานะสมาชิกรัฐสภามีความกว้างขวางหลากหลายอย่างที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่คาดคิด ตอนแรก ๆ ที่ผมเข้าไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คิดว่าหน้าที่หลักก็เพียงแค่การพิจารณากฎหมายและตรวจสอบควบคุมการทำงานของรัฐบาล แต่ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกมาก อย่างที่ผมคิดว่ามีความสำคัญรองลงไปก็คือ งานกรรมาธิการ ที่เป็นการทำงานคู่ขนานกับการทำหน้าที่จัดทำร่างกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล ซึ่งก็คือการทำการศึกษากฎหมายต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการพิจารณากันในรัฐสภา และการศึกษาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำระบบราชการเข้าไปพัฒนาและแก้ไข และประสานความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลกับประชาชน แต่ก็ยังมีหน้าที่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นตัวแทนของประเทศ ในฐานะตัวแทนของประชาชน ในเวลาที่ต้องไปทำกิจกรรมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะเรียกว่า “เป็นหน้าตาของประเทศ” ในเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศนั้นก็ได้
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่ละคนจะต้องเลือกที่จะเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาโลก โดยปกติแต่ละคนจะเลือกได้ 3 ประเทศ แต่ในช่วงนั้นมีหลายประเทศที่รังเกียจรัฐสภาของไทยที่มาจากเผด็จการ จึงเหลือประเทศที่มีให้เลือกน้อยลง เพียงแค่คนละ 3 ประเทศ ซึ่งผู้เขียนก็เลือกบราซิลเป็นลำดับแรก และเลือกประเทศเกาหลีสำรองไว้ ที่สุดก็ได้ประเทศเกาหลี โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่านอื่นมาเป็นสมาชิกในกลุ่มนี้อีกสิบกว่าท่าน เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี” จากนั้นก็ประชุมเลือกกันเองให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ประธานไปจนถึงเลขานุการและคณะทำงานต่าง ๆ โดยผมถูกขอร้องให้รับหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งก็ไม่มีหน้าที่อะไรมาก เพียงแค่เป็นหัวหน้าคณะเวลาที่เดินทางไปยังประเทศเกาหลี และทำตัวให้เป็น “หน้าตา” ของประเทศอย่างที่ได้รับมอบหมายนั้น
คณะกรรมการฯของเรามีกำหนดการเดินทางไปประเทศเกาหลีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ปรึกษานรินทร์ได้ขอร่วมคณะไปด้วย โดยอ้างว่าจะไปช่วย “อำนวยความสะดวก” เพราะมีคอนเน็ดชั่นเป็นอย่างดีอยู่ที่นั่น ซึ่งคณะกรรมาธิการฯของเราก็ต้องรับเพราะได้รับการร้องขอจากผู้ใหญ่บางท่าน แม้ว่าหลายคนจะได้ยินกิตติศัพท์ของที่ปรึกษานรินทร์มาบ้างว่า มักจะชอบไปเบ่งหรือแสดงความ “กว้างขวาง” จนทำให้คนทั้งหลายอึดอัดอยู่เป็นประจำ แต่ในการเดินทางไปเกาหลีในครั้งนี้ดูว่าที่ปรึกษานรินทร์ค่อนข้างจะเงียบสงบเป็นพิเศษ โดยตั้งแต่ที่เริ่มออกเดินทางก็ไม่งอแงที่จะนั่งในชั้นอีโคโนมี และเมื่อถึงโรงแรมที่พักก็ยอมที่จะพักในโรงแรมระดับที่ต่ำกว่าสิทธิที่ควรจะได้รับ (เช่น มีสิทธิพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่ต้องมาพักในโรงแรมระดับ 4 ดาว เป็นต้น) ทั้งนี้เนื่องจากในยุคนั้นการท่องเที่ยวเกาหลีเฟื่องฟูมาก เที่ยวบินแน่นทุกไฟลต์ รวมถึงโรงแรมที่พักในเมืองใหญ่ ๆ ของเกาหลี ที่ถึงแม้จะเป็นหน้าหนาว แต่ก็มีผู้คนไปเที่ยวอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมไปกันมาก เนื่องจากเกาหลีเป็นประเทศที่ไปมาสะดวก มีสถานที่ท่องเที่ยวแบบเมืองหนาวที่สวยงามมากมาย ทั้งยังเป็นแหล่งช็อปปิ้งสินค้าต่าง ๆ ในทุกระดับได้อย่างเต็มอิ่มสำหรับบรรดาขาช็อปทั้งหลายอีกด้วย
ในเวลา 4 วัน 3 คืนที่อยู่เกาหลี เราเดินทางไปได้ถึง 5 เมือง นอกจากกรุงโซลที่เป็นเมืองหลวงแล้ว ก็ยังมีเมืองปูซานที่เป็นท่าเรือใหญ่และมีโรงไฟฟ้าปรมาณูที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีอยู่ที่นั่นด้วย กับเมืองอื่น ๆ อีก 3 เมืองที่เป็นเมืองด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวของเขา เช่น สถานที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง “แดจังกึม” และหมู่บ้านพื้นเมืองเกาหลี เป็นต้น ตลอดการเดินทางเห็นแต่หิมะขาวโพลนไปทั่วทุกถนนหนทาง เวลาที่อยู่ในโรงแรมหรืออยู่ในรถบัสก็ค่อนข่างอบอุ่นสบายดี แต่เวลาที่เดินไปในสถานที่โล่งแจ้งหรือนอกอาคารจะหนาวมาก อุณหภูมิติดลบตลอดวัน แม้จะมีแดดจัดแต่ก็หนาวเย็นจน “ติ่งหูแข็ง” ต้องคอยเอามือลูบถูตลอดเวลาแม้จะมีชุดห่มคลุมและปิดหัวปิดหูอยู่อย่างมิดชิดก็ตาม นับว่าเป็นประสบการณ์ที่สุดตื่นเต้นและประทับใจมาก สำหรับคนเมืองร้อนที่ในประเทศมีแค่ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนมาก กับฤกูร้อนน้อย อย่างประเทศไทย
ทางรัฐบาลเกาหลีให้การต้อนรับคณะของเราดีมาก มีสมาชิกรัฐสภาระดับรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาต้อนรับทั้งไปและกลับ รวมถึงที่มีงานเลี้ยงรับรองอย่างสมเกียรติ และตลอดเวลานั้นก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของรัฐสภาเกาหลีมาคอยดูแลตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน รวมถึงอาหารการกินและความสะดวกสบายต่าง ๆ อย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผมและสมาชิกในคณะคนอื่น ๆ ไม่เคยได้รับ จำได้ว่าพอเราลงเครื่องที่สนามบินอินชอน พวกเราต้องออกมายืนรอขึ้นรถที่หน้าอาคารผู้โดยสารขาเข้า พวกเราบางคนหนาวมาก แม้จะยืนคอยอยู่ไม่ถึงนาที แต่เจ้าหน้าที่เกาหลีก็เอาผ้าห่มมาคลุมให้อย่างขมีขมัน ทั้งยังรู้สึกว่าจะเป็นผ้าห่มอย่างที่เราไม่เคยคุ้น เพราะมันมีความอุ่นอยู่ภายใน มีคนบอกว่านี่คือผ้าห่มไฟฟ้า แต่ที่เคยเห็นจะเป็นแบบที่เสียบปลั๊กใช้ในโรงแรม แต่นี่มีแบบ “เคลื่อนที่” ให้ได้ใช้อีกด้วย
ในวันที่เราเดินทางไปเมืองปูซาน เพื่อไปดูโรงงานไฟฟ้าปรมาณู ที่ปรึกษานรินทร์มากระซิบบอกผมในฐานะหัวหน้าคณะว่า คนเกาหลีเขาไม่ค่อยชอบคำชม ถ้าจะกล่าวขอบคุณอะไร ให้บอกในสิ่งที่เขาควรจะปรับปรุงแก้ไข พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเกาหลีชอบที่จะให้ตำหนิมากกว่าที่จะมายกยอสรรเสริญ ซึ่งตอนแรกผมก็สะดุ้งเหมือนกัน นึกไปว่านี่ที่ปรึกษานรินทร์จะมา “วางยา” ผมหรือเปล่า แต่พอผมได้วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ให้คณะผู้บริหารโรงงานไฟฟ้านั้นได้ฟัง(ที่พูดผ่านล่าม เพราะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของไทยกับเกาหลีก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน) พอพูดจบประธานบริหารของโรงงานไฟฟ้าก็เข้ามาจับมือผมเขย่าแรง ๆ อยู่พักใหญ่ แสดงว่าชื่นชอบและขอบคุณที่เราพูดออกมาจากใจจริงอย่างนั้นเป็นอย่างมาก กล่าวชื่นชมว่าเราเป็นมิตรแท้ที่ไม่เคยมีใครแสดงความจริงใจเหมือนกับเรานี้มาก่อน
กลับมาเมืองไทย ที่ปรึกษานรินทร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ค่อย “พลุกพล่าน” หรือเที่ยวไปยุ่งงานของฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เหมือนแต่ก่อน และดูจะลดดีกรีของ “ความกร่าง” ลงแทบจะหมดสิ้น ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ตอนที่อยู่กรุงโซล คืนก่อนกลับที่เขาไม่ได้อยู่ร่วมงานเลี้ยงอำลา เพราะขอไป “ธุระส่วนตัว” ซึ่งบางคนก็คิดแง่ลบว่าคงไปเที่ยว “อย่างว่า” แต่พอตกดึกเขากลับมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วเขาก็บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เขาไปเจอ “ลูกสาว” ของเขามา เป็นลูกสาวที่มีแม่เป็นชาวเกาหลี และนี่เองกระมังที่ทำให้เขาต้องดิ้นรนขวนขวายมากับคณะของเรานี้
อดีตที่ผิดพลาดอาจจะแก้ไขได้ด้วยการสร้างอนาคตที่ให้ความมั่นใจและรับผิดชอบ