ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกด้วย วัตถุประสงค์ในการปกป้องการรุกรานจากสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกที่อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต ทำให้สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกต้องจัดตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอ ด้วยไม่ไว้วางใจฝ่ายตะวันตกว่าจะใช้นาโต้มารุกรานตนเอง ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และอิทธิพลของรัสเซียก็ลดหย่อนลงในโลกของยุโรปตะวันตกและเอเชียกลาง หลายประเทศกลับกลายมาเป็นสมาชิกของนาโตเสียเอง เช่น จอร์เจีย โปแลนด์ และยูเครน ทำให้ภาพการเผชิญหน้าในยุโรปเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าฝ่ายตะวันตกกลับเป็นภัยคุกคามฝ่ายตะวันออกไปเสียอย่างนั้น หากพิจารณาบทบาทของนาโตในยุคของโจ ไบเดน เขาก็คือผู้สืบทอดนโยบายสายเหยี่ยวของคลินตันและโอบามา นาโตก็ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของตน ซึ่งถือว่า รัสเซีย และจีน เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้ดูประหนึ่งว่านาโตได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติการทางทหารออกไปมากกว่าเดิมเพื่อรองรับนโยบายของไบเดน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านาย Jens Stoltenberg ได้นำเสนอแผนการขยายขอบเขตของการปฏิบัติการทางทหาร และขอให้ประเทศสมาชิกจ่ายเงินอุดหนุนปฏิบัติการตอบโต้และป้องกันตามแนวหลัก ทั้งนี้นาย Stoltenberg ซึ่งเป็นเลขาธิการขององค์การนาโต กล่าวว่านอกจากจะเป็นการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของนาโต้ตั้งแต่การตรวจตราทางอากาศ ทางทะเล การฝึกรบร่วมและการสร้างความเข้มแข็งของกองกำลังแล้ว ยังเป็นการสร้างให้เกิดความยุติธรรมในการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่จะต้องร่วมกันแบ่งเบาภาระ นอกจากนี้เลขาธิการนาโต้ยังได้เดินทางมาสังเกตการณ์แถบทะเลจีนใต้ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่านาโต้มีความสนใจในท่าทีการคุกคามของจีนในภูมิภาคนี้อีกด้วย ในเบื้องต้นนาย Stoltenberg ได้เสนอแผนการเงินต่อแนวทางการขยายกองกำลังเพิ่มเติมในโปแลนด์และกลุ่มประเทศในทะเลบอลติก รวมทั้งการฝึกรบร่วมกับสมาชิกอื่นๆของนาโต้ ทั้งนี้จะทำให้การจ่ายเงินสนับสนุนของสมาชิกต้องเพิ่มขึ้นจากเดิม กล่าวคือ เดิมสมาชิกต้องจ่ายเงินร้อยละสองของ GDP เพิ่มเป็นร้อยละสิบ แต่หากมาพิจารณาดูบรรดาสมาชิก โดยจัดลำดับตามความสามารถของกลุ่มดังนี้ กลุ่มแรกที่กำลังไต่อันดับการจ่ายเงินใกล้ร้อยละ 2 ของ GDP ได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย มอนเตเนโกร สโลวาเกีย และตุรกี กลุ่มสอง เป็นกลุ่มที่ยากจะจ่ายให้ถึงร้อยละ 2 ของ GDP ในปี 2024 โดยปัจจุบันจ่ายเพียงร้อยละ 1.4 ถึง 1.6 ของ GDP ก็มีแอลเบเนีย แคนาดา สาธารณรัฐเชก เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส กลุ่มที่สาม ที่จ่ายน้อยที่สุด คือ เบลเยียม ฮังการี ลักเซมเบิร์ก มาชิโดเนียเหนือ สโลวาเนีย และสเปน ซึ่งจ่ายน้อยกว่า 1% ของ GDP ดังนั้นแม้ว่าเลขาธิการนาโตจะพยายามขอให้จ่ายเงินอุดหนุนไม่น้อยกว่า 2% เห็นได้ชัดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะทุกประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศตกต่ำ ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ก็เคยทำการเรียกร้องให้สมาชิกนาโตจ่ายเพิ่ม เพราะสหรัฐฯที่เป็นโต้โผใหญ่แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับใดๆจากสมาชิก จนเลขาธิการนาโตต้องออกมาเรียกร้องอีกครั้ง นอกจากปัญหาทางการเงินแล้ว ยังมีปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้สมาชิกนาโตต้องคิดหนัก คือ ขอบเขตการปฏิบัติการของนาโตที่สมาชิกเห็นว่าไม่ใช่ภัยคุกคามที่แท้จริง นั่นคือการที่นาโตพยายามรวมเอาจีนและรัสเซียมาเป็นภัยคุกคามหลัก แต่ปรากฏว่าภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดของสงครามเย็น รัสเซียและกลุ่มสมาชิกวอร์ซอกลับเป็นฝ่ายถอยร่น จนทำให้ต้องยกเลิกสนธิสัญญาวอร์ซอลงในที่สุด ดังนั้นเมื่อ Stoltenberg พยายามที่จะขยายความคิดของสงครามเย็นใหม่ ด้วยการสร้างภาพว่ารัสเซีย และจีน จะเป็นภัยคุกคามสมาชิกนาโต มันจึงดูไกลเกินกว่าเหตุ ที่จะให้สมาชิกนาโตเห็นดีเห็นงามด้วย แม้ว่าจะเกิดความตึงเครียดระหว่างตะวันตกและตะวันออก แต่การเผชิญหน้าส่วนใหญ่ เกิดจากการเผชิญหน้าของสหรัฐฯกับรัสเซียและจีน ไม่ใช่ยุโรปหรือสมาชิกนาโต อนึ่งการที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง แม้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-นาโต ดีขึ้น แต่เป็นในรูปแบบวาทกรรมมากกว่า เพราะทรรศนะแบบทรัมป์หรือแม้แต่โอบามาที่มีความคิดว่าสมาชิกนาโต จำนวนมากตีตั๋วฟรีเพื่อได้รับการปกป้องจากกองกำลังนาโต้ก็ยังคงอยู่ในความคิดของทีมงานของไบเดน แต่ท่าทีของสมาชิกนาโต รวมทั้งขาใหญ่อย่างเยอรมนี การที่จะชักจูงให้ยุโรปและสมาชิกนาโตมาเผชิญหน้ากับจีน ในภูมิภาคที่ห่างไกล และไม่ใช่ภัยคุกคามโดยตรงของตน จึงเป็นเรื่องยาก นอกจากการแสดงวาทกรรมเท่านั้น ในขณะที่สหรัฐฯพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯได้กลับมาเป็นผู้นำของโลกเสรีแล้ว เพื่อแสดงว่าสหรัฐฯพร้อมจะกลับมามีบทนำในการบงการหรือให้คำแนะนำหากพูดอย่างสุภาพแก่ชาวโลกเสรีก็ไม่อาจจูงใจให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังจากสมาชิกนาโตได้ ดังนั้นเมื่อนาโต้ประกาศแผนที่จะฝึกทหารในอิรัก จาก 600 คน เป็น 4,000 คน ในขณะที่โจ ไบเดน ยังไม่มีความชัดเจนที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เพราะติดขัดเรื่องการเจรจากับตาลีบันในอัฟกานิสถาน ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม จากการเจรจาของทีมงานทรัมป์ ก็มีผลที่สมาชิกนาโตต้องพิจารณาทบทวน ทั้งเรื่องอิรัก และเรื่องที่ทหารของสมาชิกนาโตติดแหงกอยู่ในอัฟกานิสถานถึง 9,600 ทคน เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างนาโตและสหรัฐฯนั้นเป็นไปอย่างเสแสร้ง และการปฏิบัติการทางทหารของนาโต้ก็เป็นไปอย่างขอไปที ยกเว้นการสู้รบของทหารอังกฤษที่ Helmand ที่เป็นไปอย่างดุเดือด นอกจากนั้นเป็นไปอย่างขอไปที ในอัฟกานิสถาน และยังเป็นประเด็นคำถามต่อความร่วมมือในการปฏิบัติการของสหรัฐฯกับนาโต้ ในประเทศอื่นๆด้วย เช่น อิรักและลิเบีย อย่างนี้แล้วก็เป็นไปได้ยากที่ยุโรปหรือสมาชิกนาโต ส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเพิ่มในเมื่อเป้าหมายของนาโต ไม่อาจตอบโจทย์ได้ว่าบทบาทของรัสเซียและจีนเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเหล่านั้นโดยแท้จริง ยิ่งมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประชาชนในประเทศสมาชิกคงไม่อยากจ่ายภาษีเพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารเป็นแน่ สงครามย่อมไม่มีประโยชน์กับใครเลยนอกจากพ่อค้าสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทธปัจจัย และยารักษาโรค ขนาดสงครามกับโควิดยังมีการค้ากำไรแบบขูดรีดกับวัคซีนป้องกันโควิดเลย ถ้าเป็นสงครามอาวุธจะยิ่งขูดรีดมากกว่านี้