กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตรเพื่อรองรับผลผลผลิตในฤดูกาลผลิต 64/65 หลังกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่างได้ทำพิธีเบิกฤกษ์เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564/65 กันไปแล้ว
“ลานตาก” ถือเป็นอีกปัจจัยจำเป็นสำหรับเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมามีปัญหาอย่างมาก ลานตากไม่เพียงพอ โดยเฉพาะข้าวเปลือกจนต้องใช้ถนนเป็นลานตากข้าว เสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน
“ความเดือดร้อนในเรื่องการตากข้าวของเกษตรกรขณะนี้ที่ยังเป็นปัญหาอยู่มาก บางรายใช้หน้าบ้าน ใช้ถนนเป็นลานตากข้าว ซึ่งอันตรายมาก จึงฝากไปยังสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศว่า แม้เกษตรกรเหล่านั้นไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ก็ต้องให้โอกาสเขามาใช้ลานตากข้าวของสหกรณ์ได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในชุมชน เป็นพี่น้องเครือญาติกันทั้งนั้น”
ช่วงหนึ่งที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาการตากข้าวช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลผลิต 63/64 ที่ผ่านมา ระหว่างการมอบนโยบายแก่สหกรณ์จังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จำนวน 35 จังหวัดตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารเพื่อการบริหารงานสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ณ ห้องประชุมโรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง เมื่อเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ที่เป็นปัญหาจะต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตรเหล่านี้ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องการเก็บชะลอและการรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณแก่สหกรณ์การเกษตรสร้างลานตากข้าวขนาดใหญ่ประมาณ 32 แห่งใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ
“ในอนาคตต้องการที่จะขยายลานตาก 1 ตำบล ต่อ 1 ลาน หรือ 1 จุด เพื่อให้ชาวบ้านมาตากข้าวได้ใกล้ๆ ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องไปตากบนท้องถนน หรือมีเครื่องอบลดความชื้นของสหกรณ์ในระดับตำบล เพื่อช่วยเหลือชาวนา”นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเสริม
จังหวัดร้อยเอ็ด แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีในพื้นที่ทุ่งกุราร้องไห้ "ดอกมะลิ 105" ของประเทศ เป็นอีกจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องลานตากข้าว จนทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยต้องนำข้าวเปลือกมาตากบนถนนในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา
นายณัฐพล แป้นนอก สหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ลานตากข้าวของสหกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกพร้อมๆ กัน ทำให้ต้องสลับวันตาก แต่โชคดีในปีงบประมาณ 2564 ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้งบอุดหนุนสหกรณ์จำนวน 1.9 ล้านบาท ในการสร้างลานตากเพิ่มจำนวน 3,200 ตารางเมตรในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โพธิ์ชัย อ.จตุรพักต์พิมานและอ.อาจสามารถ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศหาผู้รับเหมาร่วมประมูลงานก่อสร้าง
“งบที่ได้มาทางสหกรณ์จะร่วมสมทบอีก10 % คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จทันฤดูกาลผลิตปีนี้ ซึ่งก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องลานตากข้าวไม่เพียงพอลงได้ ร้อยเอ็ดจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นข้าวนาปีส่วนนาปรังมีบ้างแต่ไม่มากนัก พื้นที่ทำนาปรังส่วนใหญ่จะอยู่ริมฝั่งลำน้ำชี”สกจ.ร้อยเอ็ด กล่าว
สำหรับฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ดจะอยู่ในช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค. โดยปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 จะอยู่ที่เกวียนละ 12,000-13,000 บาท ส่วนใหญ่จะจำหน่ายผ่านกลุ่มสหกรณ์ที่เกษตรกรเป็นสมาชิก ซึ่งจะนำไปสีเพื่อบรรจุถุงจำหน่ายต่อไป ขณะที่บางส่วนก็จะเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อรอให้ผ่านงานบุญเดือน 3 ตามประเพณีชาวอีสาน จึงจะปล่อยข้าวออกจำหน่าย
ไม่เฉพาะจ.ร้อยเอ็ดที่เป็นปัญหา ขณะที่จ.นครราชสีมาก็มีปัญหาเรื่องลานตากเช่นกัน จะต่างกันก็เพียงความหลากหลายของผลผลิตที่มาใช้บริการในลานตาก ซึ่งได้แก่ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง
“โคราชไม่ได้มีแค่ข้าวอย่างอย่างเดียว แต่จะมีมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยที่ต้องการใช้ลานตาก” นายราชศักดิ์ ตระสินธุ์ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาเผยและว่าปีนี้สำนักงานสหกรณ์จ.นครราชสีมาได้รับงบประมาณรัฐบาล ซึ่งเป็นงบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์นำมาสร้างลานตากผลผลิตทางการเกษตรในหลายอำเภอใช้สำหรับตากข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังมีโรงอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขนาด 800 ตัน วงเงิน 33 ล้านบาท
“ปี 64 สหกรณ์การเกษตรโชคชัย จำกัด ได้ลานตากขนาด 8,000 ตารางเมตร วงเงิน 4.8 ล้านบาท ส่วนสหกรณ์การเกษตรปักธงชัย จำกัด ได้ยุ้งฉางเก็บข้าวโพด ขนาด 2,000 ตันและโรงสีข้าว 1 โรง สหกรณ์การเกษตรขามสะแกแสง จำกัด ได้ยุ้งฉางเก็บข้าวโพด 2 หมื่นตันและสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัดอีก 1.4 หมื่นตัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้เพื่อรองรับผลผลิตในฤดูกาลผลิตปี64/65” สกจ.โคราช แจงรายละเอียด
อย่างไรก็ตามสกจ.โคราชยอมรับว่าการเพิ่มจำนวนลานตากมากขึ้นเท่าใดก็ไม่อาจเพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่จะออกมาพร้อม ๆ กันและจะใช้เวลาเพียง 15-20 วันเท่านั้น ขณะที่ยุ้งฉางยังสามารถเก็บผลผลิตไว้นานได้ โดยไม่จำเป็นต้องจำหน่ายผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวเสร็จในทันที ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารรถรอเวลาในช่วงที่ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้นได้
“อย่างช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี เกือบทุกพื้นที่ในอีสานจะออกมาพร้อม ๆ กัน ช่วงนี้ทุกคนก็จะแย่งหาลานตาก ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ส่วนที่เหลือก็จะว่างเกือบไม่ใช่ประโยชน์อะไร โชคดีที่โคราช มีพืชหลายชนิดที่ใช้บริการลานตาก มีทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง จึงใช้ประโยขน์จากลานตากได้ตลอดทั้งปี”นายราชศักดิ์ กล่าว
ด้านยุทธนา แก้วน้อย สหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ย้ำว่า สุพรรณบุรีไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลานตาก เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่มีลานตากเป็นของตัวเองอย่างเพียงพอต่อการให้บริการแก่สมาชิก ขณะเดียวกันชาวนาส่วนใหญ่เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะขายให้กับโรงสีทันที เพราะเป็นข้าวอายุสั้น เกษตรกรทำทั้งนาปีและนาปรัง จึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายจะได้ทันทำนารอบต่อไป
“ชาวนาสุพรรณไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลานตาก ส่วนใหญ่มีให้บริการเพียงพอ แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ทำทั้งนาปีและนาปรังปีละ 2-3 รอบ”สกจ.สุพรรณบุรี ย้ำ
การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรเพื่อให้ทันรองรับฤดูกาลผลิตใหม่ในปีนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ให้ความสำคัญและได้กำชับอย่างหนักแน่นในวันนั้น