เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 องค์กรกะเหรี่ยง(Karen Thai Group : KTG) ...โดย KTG ได้ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
เรื่อง ขอความอนุเคราะห์การให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
สิ่งที่ส่งมาด้วย – ภาพการอพยพหนีความตายจากการสู้รบของประชาชนกะเหรี่ยง
เนื่องด้วยสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับ กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( The Karen National Union : KNU) หรือ เคเอ็นยู ในพื้นที่ จว.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งตรงข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันมีความทวีรุนแรงมากขึ้น และไม่มีท่าทีที่จะสงบลง กองทัพเมียนมาได้มีการตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบไม่ทราบชนิด จำนวนหลายลำ ยิงโจมตีใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( The Karen National Union : KNU) และบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนกะเหรี่ยง มีประชาชนชาวกะเหรี่ยงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนถูกเผาทำลาย มิหนำซ้ำเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนชาวกะเหรี่ยงที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมาจบชีวิตหลายศพ การกระทำของกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิ้นอ่องไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ถือว่าเป็นกระทำการอย่างเหี้ยมโหด ไร้มนุษย์ยะธรรม ยอมรับไม่ได้
จากสถานการณ์การสู้รบดังกล่าว ส่งผลให้เด็ก เยาวชน คนชรา ผู้ป่วย ชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ จว.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวนหลายพันชีวิต จำเป็นต้องอพยพหนีความตายจากการสู้รบไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย อาทิเช่น หลบตามเพิงผาในถ้ำในสวนไร่นาและในป่า เป็นต้น และบางส่วนก็อพยพหนีความตาย มายังฝั่งประเทศไทย เพื่อมาพึ่งความร่มเย็นความสงบสุขชั่วคราว ตามกระแสข่าวกลับถูกหน่วยงานด้านความมั่งคงของไทย ผลักดันผู้อพยพกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ซึ่งทั้งๆที่พื้นที่อยู่อาศัยเดิมยังไม่มีความปลอดภัย และยังมีการสู้รบอยู่อย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มกะเหรี่ยงไทย (Karen Thai Group : KTG) จึงขอความอนุเคราะห์พร้อมเรียกร้องไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนี้
(1) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่งคงประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้อพยพลี้ภัย เข้าให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ตามหลักสิทธิ
มนุษยชน Human Rights และมีมาตรการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรัดกุม
(2) เรียกร้องให้ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและยุติการผลักดันกลับประเทศ แก่ประชาชนชาวกะเหรี่ยงที่อพยพจากภัยสงคราม
(3) การให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ จะต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าตรวจสอบได้อาทิเช่น การลงชื่อเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้อพยพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงสูง โดยการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงของโควิด-19
(4) หากสถานการณ์สงบลงและมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้อพยพพร้อมกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ต้องการให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR และกระทรวงมหาดไทย เป็นพยานความสมัครใจ
หากมีผู้ไม่สมัครใจจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ควรมีการดำเนินการระหว่าง UNHCR ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยคัดกรองผู้อพยพ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการประหัตประหารหากถูกส่งตัวกลับ
จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์