เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แถลงผลการดำเนินการกำหนดขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการแถลงประจำสัปดาห์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ว่า ส.ป.ก. ได้มีการเร่งรัดการจัดที่ดิน โดยมีแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน สำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดที่อยู่อาศัย กิจการสาธารณูปโภคหรือกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน โดย ส.ป.ก. กับกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตที่ดินชุมชนร่วมกัน เพื่อเป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง ทำให้ชุมชนมีความสมดุลระหว่างพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน และพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแผนการดำนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งรัด) เร่งรัดการกำหนดขอบเขตวงรอบชุมชนโดยขอความเห็นชอบจาก คปก. เพื่อให้ ส.ป.ก.จังหวัด ดำเนินการจัดที่ดินตามแผนงานจัดที่ดินชุมชนปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 13,000 ราย/แปลง เพื่อเร่งรัดจัดที่อยู่อาศัยให้เกษตรกร ระยะที่ 2 ส.ป.ก. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อดำเนินการกำหนดขอบเขตที่ดินชุมชนเป็นไปตามหลักวิชาการ มีความสมดุล ระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชน ระยะที่ 3 ส.ป.ก. บูรณาการร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดทำผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยการจัดทำผังโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก่อสร้างถนน สาธารณูปการ ในเขตที่ดินชุมชน และให้มีการพัฒนาการคมนาคม การขนส่ง ให้สะดวกเกิดประโยชน์ต่อชุมชน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกำหนดขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินมี ดังนี้ 1.ผู้รับอนุญาตได้รับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้รับเอกสารการใช้ที่ดินเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินและได้รับการสนับสนุนจากโครงการภาครัฐต่างๆ และเกษตรกรได้รับการจัดที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นการรับรองสิทธิประชาชาชนพึงมีพึงได้ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญภายใต้หลัก ความเท่าเทียม และเป็นธรรม คาดว่าเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์รวมทั้งหมดประมาณ 1,013,980 ราย 2.ชุมชนท้องที่ได้รับการพัฒนาในภาครวม ทั้งด้านการเกษตร ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ มีระบบเกษตรกรรมครบวงจร มีการสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชนท้องถิ่นหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ 3.ส.ป.ก. สามารถบริหารจัดการที่ดินรัฐ เก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์เข้าสู่กองทุนที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อมีรายได้ต่อยอดในการส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างทั่วถึง สร้างความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ของ ส.ป.ก. ต่อบุคคลภายนอก สร้างการเข้าถึงกฎหมายของประชาชน รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้ 4.ทำให้การดำเนินการจัดที่ดินของ ส.ป.ก. เป็นการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรและประชาชนโดยรอบ ชุมชนท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านอื่นๆ ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างรายได้ “ทั้งนี้ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. มีแผนให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง และทั้ง 2 หน่วยงาน มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ภายใต้ MOU ครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร”รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว