เด็กๆ ใน อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร กำลังเล่นของเล่นที่บรรจุอยู่ใน “กล่องมหัศจรรย์” ซึ่งยูนิเซฟได้จัดส่งเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ต่อเนื่องระหว่างอยู่ที่บ้านกับผู้ปกครองในช่วงโควิด-19/ภาพ: ยูนิเซฟ – บัณฑิต โชติสุวรรณ
กรุงเทพฯ 30 มีนาคม 2564 – ยูนิเซฟได้จัดส่ง “กล่องมหัศจรรย์” หรือ “Magic Box” ซึ่งบรรจุหนังสือเด็ก ของเล่นเสริมทักษะ และอุปกรณ์การเรียนรู้ไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในระหว่างที่อยู่บ้านกับผู้ปกครอง หลังจากที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในบางพื้นที่ของจังหวัดยังคงปิดการเรียนการสอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“กล่องมหัศจรรย์” จะถูกจัดส่งไปยัง 1,000 ครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีทั้งในชุมชนไทยและชุมชนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 โดยยูนิเซฟได้ร่วมมือกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงครอบครัวที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนรู้หรือเข้าไม่ถึงความคุ้มครองทางสังคม จะได้รับอุปกรณ์การเรียนรู้และการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับเด็ก ๆ
การปิดสถานศึกษาที่ยาวนานต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่ตกหล่นและขาดโอกาสที่สุด
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “หกปีแรกของชีวิต คือ ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างรากฐานการเรียนรู้และการเติบโตของเด็ก เนื่องจากสมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น หากการเรียนรู้ การเล่นและการกระตุ้นพัฒนาการหยุดชะงักลงในช่วงนี้ ก็จะส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็ก การที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องหยุดการเรียนการสอนลงในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้การพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมของเด็ก จะขึ้นอยู่กับการดูแลและการกระตุ้นพัฒนาการจากผู้ปกครองที่บ้านล้วน ๆ ดังนั้น เราจึงจัดทำกล่องมหัศจรรย์ขึ้นเพื่อช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เล่นและอ่านหนังสือร่วมกับลูก ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต”
ในประเทศไทย มีพ่อแม่จำนวนไม่มากนักที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูก ซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ปี 2563 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับยูนิเซฟ พบว่า มีแม่เพียง 6 ใน 10 คน และพ่อเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่ทำกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกอย่างน้อย 4 อย่าง นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเด็กปฐมวัยเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่มีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ยิ่งแย่ลงในครอบครัวที่ยากจนที่สุด
นอกจากการจัดส่งกล่องมหัศจรรย์แล้ว ยูนิเซฟได้สนับสนุนศูนย์ประสานงานสมาคมพราวในจังหวัดสมุทรสาคร ในการจัด “การปฐมพยาบาลทางใจ” (psychological first aid) เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ และครอบครัวแรงงานข้ามชาติสามารถจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด โดยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในชุมชน เช่น กิจกรรมสันทนาการสำหรับเด็ก ๆ การอบรมอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติในการสอดส่องดูแล ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตเบื้องต้น ตลอดจนส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้าถึงบริการจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น