วันที่ 30 มี.ค. ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มีนาคม นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันโรคภัยในช่วงฤดูร้อน ว่า ในช่วงนี้มีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ทำให้มีฝนตก และมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ที่อาจมีไข่ยุงลายแห้งติดอยู่ก่อนแล้วหลายเดือน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะช่วงนี้สถานศึกษาหลายแห่งใกล้ปิดเทอม ไม่มีผู้ดูแล อาจทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงทำให้นักเรียนเป็นกลุ่มเสี่ยงของไข้เลือดออกได้
สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-24 มี.ค.2564 จำนวน 82 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็นรายจังหวัดได้ ดังนี้ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 41 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 37 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 2 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 0-4 ปี โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ห้ามซื้อยากินเอง เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด เกิดภาวะช็อค ทำให้เสียชีวิตได้
ขอให้ประชาชนร่วมกันป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยการทำความสะอาด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามหลัก 7 ร. คือ โรงเรือนโรงธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และสถานที่ราชการ และขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ “ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ” คือ 1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ สามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 3. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้ประชาชนอาจเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรกได้ โรคนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ตัวร้อน หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อกจนถึงขั้นหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ มี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4) ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ 5) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การป้องกันการเกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก 1) ให้สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน 2) อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง 3) ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก เนื่องจากน้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ 4) หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 5) อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง หากมีผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นโรคลมแดด เช่น ตัวร้อน เกิดอาการหน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตามร่างกาย ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน ให้อยู่ในที่ระบายอากาศ ถ้ามีอาการรุนแรงหรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
สำหรับ “ โรคไข้หูดับ ” เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากฝากเตือนประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ อาจมีงานเลี้ยง งานบุญเพื่อพบปะสังสรรค์ ขอให้ระมัดระวังการกินเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ โรคนี้เกิดจากการกินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิสปนเปื้อนอยู่ หรือผู้ที่มีความเชื่อว่ามะนาวบีบให้หมูสุกโดยไม่ต้องลวกในน้ำเดือด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด โรคนี้ยังสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วนตามร่างกาย หรือทางเยื่อบุตาได้ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ทำให้ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ และอาจรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ สถานการณ์โรคไข้หูดับในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 มีนาคม มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยแยกเป็น จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 9 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย จำนวน 1 ราย ส่วน จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย 1) ผู้ที่เลี้ยงสุกร ควรใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสุกร 2) ผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าบู๊ทและถุงมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง 3) ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10°C 4) ผู้บริโภคควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น