โควิด-19 ทำให้หลายวงการต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เกษตรกรก็เช่นกันหลายคนมีปัญหาจากตลาดปิด แต่หลายคนก็พบโอกาสจากวิกฤตนี้ "วรชัย ทองคำฟู" ชาวอำเภอดอยสะเก็ด หนึ่งในเกษตรกรโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผันตัวจากแปลง จากแผงขายผัก สู่โลกการค้าทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในการเยี่ยมชมแปลงเกษตรของ นายวรชัย ทองคำฟู เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ว่า เป็นตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่ใช้ความรู้ในการทำเกษตรตั้งแต่การวางแผนการผลิต การจัดการน้ำ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมถึงการแสวงหาตลาดที่ไม่หยุดนิ่งในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนนำมาสู่ความสำเร็จในการขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์จนได้รางวัลนักขายชั้นเยี่ยมของเว็บไซด์ขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งตรงกับเป้าหมายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกร สถาบันเกษตร พัฒนาการตลาดเข้ามาสู่ระบบการค้าออนไลน์ "การทำเกษตร โดยมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ ทั้งแหล่งน้ำและความเหมาะสมของอากาศ โดยเฉพาะการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาเสริม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลง รวมถึงการทำการเกษตรแบบสวนผสมผสานไม่ยึดติดจากรายได้ของการปลูกพืชชนิดเดียว เช่นแปลงของนายวรชัย ที่เอาแหล่งน้ำเป็นหลักและจัดวางตำแหน่งการปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการน้ำ ขณะที่นำเศษพืช เศษวัสดุในไร่สวนมาทำเป็นปุ๋ย ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่สิ่งสำคัญคือการมุ่งสู่ตลาดออนไลน์ทำให้ปัจจุบันนอกจากจะสามารถขายผลผลิตจากสวนตัวเองแล้ว คุณวรชัย ยังสามารถนำผลผลิตของเพื่อนๆกลุ่มเกษตรกรมาจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์เป็นการขยายตลาดและช่วยระบายผลผลิตให้เกษตรกรอื่นๆด้วย เช่นกระเทียมดอง มะขาม มะม่วง เป็นต้น" ด้านนายวรชัย ทองคำฟู อายุ 41 ปี กล่าวว่า จบปริญญาโท สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดิมเป็นลูกจ้างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลาออกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมากลับมาช่วยพ่อพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 23 ไร่ ซึ่งเดิมพ่อทำกระเทียมดองสูตรดั่งเดิมจำหน่าย แต่ได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการทำงานที่ห้วยฮ่องไคร้ มาวางระบบการปลูกพืชที่สวนของตนเองในแบบวนเกษตร โดยเอาแหล่งน้ำเป็นหลักจุดที่ห่างไกลบ่อน้ำ แหล่งน้ำ จะปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ไม้สัก และไม้ผลยืนต้น เช่น มะขาม มะม่วง และใกล้บ่อเข้ามาเป็นกลุ่มของไผ่กิมซุง ลำไย และเสริมด้วยผักหวานป่าเพราะตลาดต้องการมาก แต่ทั้งสวนจะเดินระบบน้ำหยด และระบบน้ำที่ใช้แรงโน้มถ่วงในการปล่อยน้ำเพราะสภาพที่ดินลาดชันทำให้ประหยัด ขณะที่ใบไม้แห้งทำปุ๋ยหมัก และเลี้ยงไก่บ้านพันธุ์พื้นเมืองอีกด้วย "สิ่งสำคัญที่ต้องต่อสู้คือความคิดของสังคมไทยที่มักจะมองว่า เรียนสูงแล้วกลับบ้านมาทำไม เหมือนล้มเหลว ทางอาชีพหรือไม่มีที่ไป สุดท้ายกลับมาบ้าน ซึ่งหากไม่สนใจคำถามเหล่านั้นเลย และมีความมุ่งมั่นก็จะเดินหน้าได้ เพราะหากลองมองย้อนกลับมาก็จะพบว่าเกษตรกรไทยส่วนมากอายุมาก และคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อย ขณะเดียวกันหากมองรอบด้านก็จะเห็นว่า บ้านเรามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งที่ดิน พลังใจ และที่สำคัญคือความมุ่งมั่นของตนเอง ผมเริ่มปลูกต้นสักเพื่อกันแนวเขตที่ดินเมื่อ 7 ปีก่อน คนว่าบ้า ขณะนี้สักผมต้นใหญ่ และเป็นไม้เศรษฐกิจ แต่อีกสิบปีผมถึงจะตัดขายเป็นไม้ออมสินของผม ผมเลือกปลูกไม้ราคาดีที่ตลาดต้องการทุกวันอีกด้วยคือผักหวานป่า ไม้ไผ่ให้ทั้งไม้และทั้งหน่อ เป็นต้น" สำหรับสินค้าที่จำหน่ายหลักนำผลผลิตในไร่ในสวนมาแปรรูป และสร้างแบรนด์ของตัวเอง ได้แก่ กระเทียมดอง มะขามแช่อิ่ม มะม่วงกวน มะขามตาหวาน มะขามตาเหลือก เป็นต้น สำหรับมะขามตาหวาน ตาเหลือกนั้น มาจากที่มีพ่อค้ามาขอเหมามะขามเปรี้ยวที่สวนทั้งหมด 2 พันบาท แต่ไม่ขาย แล้วมานั่งคิดกับน้องสาวว่าจะทำอะไร อีกไม่กี่วันน้องซื้อมะขามจี้ดมาจากในเมือง ทำให้เราได้ไอเดียและทำออกมาเป็นมะขามทั้งสองตัว และขายดีมากในตลาดออนไลน์ อนาคตตั้งใจอยากจะทำพื้นที่การเกษตรของตนเองให้เป็นเหมือนป่าชุมชน หรือ Supermarket ชุมชน ที่มีทั้งพืชผักท้องถิ่นมีไว้กินไว้ขายตลอดทั้งปี นายวรชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงโควิด-19 ที่คนมองว่าเป็นวิกฤตมาก แต่สำหรับครอบครัวมองว่าคือโอกาส จากที่ผลผลิตของสวนไม่มีที่จะขายเพราะตลาดปิด ต้องนั่งมองหน้ากันจนน้องสาวลองไลฟ์สดขายสินค้าผ่านเว็บไซด์ ปรากฏว่าลูกค้าตอบรับมากจนทำให้มีรายได้จากการขายผ่านระบบในระดับน่าพอใจ กลายเป็นช่องทางตลาดที่สำคัญให้ผลผลิตจากสวนของตนเอง และของเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ซึ่งจากวิกฤตนี้อยากให้ทุกคนมองว่า ทำให้เกษตรกรหลายคนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์คือ ตลาดที่ทุกคนแสวงหา และตลาดออนไลน์คือ คำตอบไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปวางแผงขาย อยู่ที่ไหนก็ขายได้ แต่ที่สำคัญคือต้องทำสินค้าให้มีคุณภาพ