อุปสรรคสำคัญในการซื้อขายและส่งออกข้าวไทยคือ ปัญหาการปลอมปนของชนิดพันธุ์ข้าว ด้วยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือAIแม่นยำสูงที่ใช้ในการตรวจสอบข้าว จะช่วยในการประเมินราคาที่เที่ยงตรง และทำให้ได้ข้าวที่ตรงตามมาตรฐาน รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) ผู้ริเริ่มวิจัยใช้ Aiแม่นยำสูงในการจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยกล่าวว่า ปัญหาการปลอมปนของข้าวไทย มีผลอย่างยิ่งต่อราคาขายที่ต่ำลงในตลาด ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลต่อชาวนาไทย จริงๆ แล้วการปลอมปนของข้าวเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การตัดข้าว ฯลฯ ซึ่งการปลอมปนจะทำให้ราคาแตกต่างกัน เนื่องจากข้าวบางสายพันธุ์ แม้จะเป็นข้าวเจ้าเหมือนกัน แต่จะมีราคาที่ต่างกันสูงมาก ลำพังการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยวิธีดั้งเดิมที่ใช้มนุษย์ (Human Expert) นั้น พบว่ามีความแม่นยำที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสถานการณ์ในแต่ละวัน ซึ่งเวลาขายข้าวที่มีการปลอมปน จะถูกหักราคาตามสัดส่วนการปลอมปนของข้าว อย่างเช่น ข้าวสายพันธุ์ A ประมาณร้อยละ 85 ซึ่งมีการปลอมปนด้วยข้าวสายพันธุ์ B ร้อยละ 15 เวลาขายจะถูกหักราคาไปตามสัดส่วนของมูลค่าของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยี Mask R-CNN (Mask Regional Convolutional Neuron Network) ซึ่งเป็นการใช้ Aiจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยด้วยภาพถ่าย จะทำให้สามารถช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าว และสามารถคำนวณสัดส่วนการปลอมปนได้อย่างแม่นยำ และเที่ยงตรงมากขึ้น หลักการของ Mask R-CNN คือ การใช้เทคโนโลยีในประเภทMachine Learning ซึ่งเป็นการฝึกทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่า ข้าวไทยในแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะอย่างไร โดยป้อนข้อมูลที่เป็นภาพถ่ายของข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การดำเนินการวิจัยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่นมาฝึกกับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มองเห็นเช่นเดียวกับมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยี Mask R-CNN จนมาเลือกศึกษาเพียง5สายพันธุ์ ซึ่งประกอบ ด้วยข้าวเหนียว1สายพันธุ์ และข้าวเจ้าที่มีราคาแตกต่างกันอีก4สายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ข้าวหอมมะลิของไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จากการเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติ และกลิ่นหอม ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของโลกเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ผลจากการใช้เทคโนโลยี Mask R-CNN ในการจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยนี้ พบว่ามีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ85ซึ่งสูงกว่าการประเมินโดยมนุษย์กว่าร้อยละ20และในอนาคตอาจใช้ขยายผลต่อยอดคัดแยกผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออกอื่นๆ ของไทยต่อไปได้ อาทิ มังคุด ทุเรียน มะม่วง ฯลฯ ซึ่งในการวิจัยได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) ร่วมทดลองและพัฒนางานวิจัยด้วย ผลงานนวัตกรรมจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยด้วย AI นี้ เคยคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์ค้นค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ภายใต้ชื่อผลงาน "โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย โดยใช้ภาพถ่ายของเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยวิธีการแบบ Mask R-CNN และ Transfer Learning" (Computer Program for Classifying Categories of Thai Rice - Grain Images Using Mask R-CNN and Transfer Learning)" ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2563 มาแล้ว รศ.ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ถือเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ ในฐานะอาจารย์นักวิจัยผู้สามารถใช้ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทาง ICT นำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหามาตรฐานการส่งออกข้าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับทางเศรษฐกิจของชาวนาไทยได้ต่อไป ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล