กรมศิลปากรจับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนงานด้านมรดกทางวัฒนธรรม 29 มี.ค. 64 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี และการฟื้นฟู อนุรักษ์สงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน กับองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดีและการอนุรักษ์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประยุกต์เทคโนโลยีแสงที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน ในการศึกษาวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรม เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องด้วยแสงซินโครตรอนมีประสิทธิภาพสูง สามารถศึกษาความหลากหลาย ความซับซ้อนของโครงสร้างและองค์ประกอบในวัตถุโบราณ และยังสามารถใช้ศึกษาธาตุองค์ประกอบที่มีปริมาณน้อย ตรวจวัดข้อมูลที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ได้ โดยเทคนิคแสงซินโครตรอนหลายเทคนิคนั้น ไม่ทำลายตัวอย่างที่นำมาตรวจวิเคราะห์ จึงตอบโจทย์การวิเคราะห์วัตถุทางโบราณคดีได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเคยให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี ได้แก่ 1) งานวิจัยลูกปัดแก้วแบบอินโดแปซิฟิคที่พบในภาคใต้ของประเทศไทยในการค้นหาธาตุที่ให้สี 2) งานวิจัยเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงเพื่อจำแนกวัตถุทำลอกเลียนแบบ โดยวิเคราะห์หาธาตุบ่งชี้บางชนิด 3) งานวิจัยสำริดโบราณจากแหล่งโบราณคดีโนนป่าช้าเก่า จังหวัดนครราชสีมา โดยศึกษาองค์ประกอบของธาตุและศึกษาสภาพการกัดกร่อนพบว่าเครื่องมือถูกกัดกร่อนจากคลอรีนซึ่งมีอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นตัวการ และในปีงบประมาณ 2564 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีหัวข้อการปฏิบัติงานเพื่อให้ความอนุเคราะห์สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ในการศึกษาจำแนกวัสดุที่นำมาใช้ผลิตลูกปัดโดยการใช้แสงซินโครตรอนตรวจสอบสเปกตัมที่แสดงโครงสร้างของวัตถุว่าผลิตมาจากเปลือกหอยหรือปะการังหรือซากฟอสซิลบางประเภท และให้ความอนุเคราะห์สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ศึกษาด้านโบราณโลหะวิทยาโดยศึกษาองค์ประกอบแร่ธาตุจากเหล็กจากแหล่งอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และศึกษาแหล่งแร่ด้วย