หลังประเมิลแล้วคาดนำมาซ่อมใช้ได้ ส่วนค่าฝากอุปกรณ์ดับเพลิง และค่าธรรมเนียม ที่บริษัทการบินไทยฟ้องให้ กทม.จ่ายกว่า 100 ล้านบาท ยืนยันกทม.จะไม่จ่าย เพราะกทม.ไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงแต่เป็นคู่สัญญากับ สไตเออร์ การรบินไทยต้องทวงกับทาง สไตเออร์/ส่วนคดีความต้องรอศาลอุทธรณ์พิพากษากลางปีนี้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีรถดับเพลิงรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ จากคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่ยังฝากไว้ที่การบินไทย ซึ่งทางการบินไทยรวมถึงศุลกากรได้ฟ้องเรียกค่าฝากกว่า 10 ปีกับกรุงเทพมหานคร ว่า ในส่วนของคดีความกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ยังคงอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ คดียังไม่สิ้นสุด แต่ในส่วนของชุดดับเพลิงและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ฝากไว้กับการบินไทย ได้หมดอายุการใช้งานแล้วซึ่งจะต้องทำเรื่องจำหน่าย เรื่องของค่าฝากของที่ทางการบินไทยและศุลกากรฟ้องให้กรุงเทพมหานครจ่ายนั้น กรุงเทพมหานครจะไม่จ่าย เพราะกรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรง กรุงเทพมหานครเป็นคู่สัญญากับ สไตเออร์ กรุงเทพมหานครจึงจะไม่รับของและไม่จ่ายค่าฝากที่ผ่านมา
ส่วนในเรื่องของคดีความต้องรอศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีช่วงกลางปี 2564นี้ ว่าจะสามารถนำรถดับเพลิงออกมาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะยื่นคำสั่งขอนำรถออกมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หากศาลอนุญาตตามที่ขอ กรุงเทพมหานครก็ได้ตั้งคณะกรรมการประเมินราคาซ่อมและเตรียมการนำรถออกมาซ่อมเพื่อใช้ปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการที่มีนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่ราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่ติดตามอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ที่จัดเก็บที่ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งประกอบด้วย ชุดดับเพลิงออกปฏิบัติการ ชุดดับเพลิงเคมี เครื่องช่วยหายใจจำนวน 350 ชุด ที่มีอายุการใช้งาน 10-12 ปี เครื่องอัดอากาศเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 5 ชุด ต้องมีการบำรุงรักษาทำความสะอาดถัง และอะไหล่อุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ และที่คลังเก็บสินค้าของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสถานที่เก็บอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ 3 หีบห่อนั้น ซึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปี จากการตรวจสอบมีการเสื่อมสภาพและใช้การไม่ได้แล้ว คณะกรรมการ จึงมีมติให้ขายทอดตลาด ส่วนค่าฝาก ให้ไปฟ้อง เพราะกรุงเทพมหานครไม่ได้ฝาก “สไตเออร์” เป็นผู้ฝาก เบื้องต้นค่าฝาก ค่าธรรมเนียม และภาษี รวม 100 ล้านบาท
ส่วนรถดับเพลิงและรถกู้ภัย ที่จออดอยู่ท่าเรือแหลมฉบัง แยกเป็นรถดับเพลิง 67 คัน รถดับเพลิงบรรทุกน้ำขนาด 1 หมื่นลิตร 72 คัน รวม 139 คัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ บริษัท นามยงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ตัวแทนบริษัทนามยงค์ฯ ยืนยันคัดค้านยังไม่ให้นำรถออก เนื่องจากบริษัทนามยงค์ฯได้ยืนยันค่าเช่าที่จอดรถอยู่ที่ 926 ล้านบาท ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้