การประชุมความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญ “โบราณคดีจีน” หรือ “考古中国” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ณ เมืองเฉิงตู มณฑลเฉฉวน โดยรายงานการค้นพบและผลการวิจัยทางโบราณคดีที่สำคัญของแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุยที่เมืองก่วงฮั่น มณฑลเฉฉวน ได้เริ่มดำเนินงานขุดค้นแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 จนถึงปัจจุบัน คณะนักโบราณคดีขุดพบหลุมบูชายัญ 6 แห่ง และโบราณวัตถุอันล้ำค่ามากกว่า 500 รายการ อาทิ แผ่นทองคำเปลว แผ่นหยกทรงกลม เครื่องประดับทองแดงรูปเต่า แผ่นเครื่องประดับทองคำรูปนก แหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุย เป็นแหล่งซากโบราณคดีของวัฒนธรรมโบราณสู่ (Shu) ที่มีความเก่าแก่ประมาณกว่า 5,000 ปี ถึง 3,000 ปี ตั้งอยู่ที่เมืองก่วงฮั่น มณฑลเฉฉวน มีขนาดพื้นที่กว่า 12 ตารางกิโลเมตร และถูกยกย่องว่า “เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20” แหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุยเคยได้รับการขุดเพื่อกู้หรือซ่อมแซม (Rescue Archaeology) เมื่อปี 1986 และการค้นพบครั้งใหม่นี้ใช้หลักการสำรวจซากโบราณคดีทางวิทยาศาสตร์ มีความร่วมมือแบบหลายคณะและการบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับแหล่งซากโบราณคดีและวัฒนธรรมซานซิงตุยมากยิ่งขึ้น ตามรายงาน ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2019 ถึง เดือน พฤษภาคม 2020 มีการค้นพบ “หลุมบูชายัญ” ใหม่ 6 แห่ง และขุดพบวัตถุโบราณที่สำคัญมากกว่า 500 รายการ อาทิ ชิ้นส่วนหน้ากากทองคำ แผ่นเครื่องประดับทองคำรูปนก ชิ้นส่วนงาช้างแกะสลักอันประณีต และเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการสร้างและทิศทาง และโบราณวัตถุภายใน “หลุมบูชายัญ” ทั้ง 6 แห่ง มีความคล้ายคลึงกับหลุมหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ที่เคยขุดพบเมื่อปี 1986 การขุดค้นครั้งนี้ได้ขุดพบโบราณวัตถุสัมฤทธิ์จำนวนมากในหลุมหมายเลข 3 อาทิ เศียร์สัมฤทธิ์ลงสีบริเวณดวงตา หน้ากากสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ รูปปั้นคนคุกเข่า ต้นไม้เทพเจ้าสัมฤทธิ์ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังขุดพบงาช้างกว่าร้อยชิ้นถูกฝั่งรวมกันกับเครื่องสัมฤทธิ์และเครื่องหยก โดยงาช้างส่วนหนึ่งยังมีร่องรอยการถูกเผาด้วย ศาสตราจารย์ ซู เจียน ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ที่ได้เข้าร่วมขุดพบหลุมหมายเลข 3 กล่าวว่า หลุมหมายเลข 1 และ 2 ขุดพบเครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องทองคำ และเครื่องหยกจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ได้เปลี่ยนแปลงความรู้ ความเข้าใจของลักษณะเฉพาะและรูปแบบของอารยธรรมยุคต้นของจีน แต่โบราณวัตถุของทั้ง 2 หลุมนั้นยังคงมีปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่จำนวนมาก การขุดพบจำนวนโบราณวัตถุภายในหลุมหมายเลข 3 ไม่ได้น้อยไปกว่าหลุมหมายเลข 2 เลย แต่มีประเภท รูปทรงอันมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอธิบายได้ว่าโบราณวัตถุภายในหลุมไม่ได้บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ที่เฉพาะเจาะจง และบ่งชี้ว่าพิธีกรรมของวัฒนธรรมซานซิงตุยมีความหลากหลายและมีมาอย่างยาวนานและ จากการส่งชิ้นส่วนเครื่องสัมฤทธิ์ 16 รายการจากแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุยให้พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมแห่งชาติของจีนตรวจสอบ ตรวจพบโปรตีนเส้นใยไหมจำนวน 5 รายการ สิ่งนี้อธิบายได้ว่าเมื่อ 3,000 ปีก่อน คนจีนโบราณสมัยสู่ (Shu) ได้เริ่มมีการใช้สิ่งทอผ้าไหม และนี่เป็นการค้นพบครั้งแรกในมณฑลเฉฉวน และเทียบกับการขุดค้นเมื่อปี 1986 การสำรวจทางโบราณคดีครั้งนี้ เป็นการนำห้องทดลองที่ทันสมัยย้ายมาอยู่ในทุ่งนาที่เป็นพื้นที่สำรวจ มีความหมายอย่างมากต่อด้านโบราณคดี การขุดสำรวจในครั้งนี้ มีติดตั้งเต้นขุดสำรวจควบคุมอุณหภูมิและความชื้นขนาดใหญ่ ระบบปฏิบัติการทางโบราณคดีหลายฟังก์ชั่น แพลตฟอร์มป้องกันโบราณวัตถุฉุกเฉิน ห้องตรวจวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญที่สามารถส่งข้อมูลทางไกลได้ ระบบบันทึกตลอดการปฏิบัติการสำรวจ ระบบบันทึกการสำรวจด้วยภาพวิดีโอ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การขุดสำรวจและการอนุรักษ์โบราณวัตถุไปพร้อมกัน ช่วยให้การบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา ความร่วมมือของหลายคณะสำรวจเกิดขึ้นได้ ภายในเต้นสำรวจออกแบบให้มีห้องป้องกันโบราณวัตถุอินทรีย์แบบฉุกเฉิน โดยตระเตรียมอุปกรณ์ป้องกันไว้ อาทิ ตู้อุณหภูมิต่ำป้องกันความชื้น กล่องเก็บตัวอย่างทางชีวภาพอุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะใช้สำหรับปกป้องโบราณวัตถุอย่างเช่น สิ่งทอผ้าไหม เครื่องเคลือบไม้ ในการเก็บตัวอย่างงาช้างของหลุมหมายเลข 5 ต้องได้รับการบันทึกผลการตรวจสอบและการสแกน หากใช้แว่นขยายส่องจะสามารถมองเห็นลวดลายก้อนเมฆฟ้าคำรามอันสวยงาม และยังออกแบบห้องป้องกันโบราณวัตถุอนินทรีย์สารแบบฉุกเฉิน ซึ่งมีเครื่องไอออนโครมาโทกราฟี อุปกรณ์เก็บโบราณวัตถุแบบทั้งชิ้น ใช้สำหรับปกป้องโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองคำ เครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องหยก และเครื่องเคลือบ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีทยอยค้นพบซากโบราณที่สำคัญ อาทิ เมืองโบราณซานซิงตุย เมืองโค้งน้ำจันทร์เสี้ยว เมืองฉางเปาเปา ฐานอาคารขนาดใหญ่ชิงกวนซาน สุสานหมู่บ้านเหรินเซิง และได้กำหนดขอบเขตและโครงสร้างของแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุยไว้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง การค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหม่นี้ ช่วยเพิ่มพูนคุณค่าภายในของแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุย มีส่วนช่วยให้มีความรู้ ความเข้าใจวัฒนธรรมซานซิงตุยมากยิ่งขึ้น และผลักดันการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมซานซิงตุยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างที่ราบเฉิงตูกับภูมิภาคโดยรอบ ผลการสำรวจทางโบราณคดีแหล่งซากโบราณคดีซานซิงตุยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอารยะธรรมสู่ (Shu) และวัฒนธรรมแม่น้ำแยงซีมีส่วนสำคัญต่ออารยะธรรมจีน นับเป็นการแสดงถึงหลักฐานอันเป็นรูปธรรมที่สำคัญของรูปแบบการพัฒนาอันเป็นหนึ่งเดียวที่มีความหลากหลายของอารยะธรรมจีน หน้ากากตาโปนสัมฤทธิ์ / ภาพจาก พิพิธภัณฑ์โบราณคดีซานซิงตุย รูปปั้นคนยืนสัมฤทธิ์  / ภาพจาก พิพิธภัณฑ์โบราณคดีซานซิงตุย ต้นไม้เทพเจ้าสัมฤทธิ์  / ภาพจาก พิพิธภัณฑ์โบราณคดีซานซิงตุย