กว่าจะเป็นบัณฑิตแพทย์ที่พร้อมออกมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาประชาชน ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ถึง 6 ปี เบื้องหลังของการเป็นเบ้าหลอมสู่การเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ คือ การมีอาจารย์แพทย์ที่ดีเป็นต้นแบบ (Role Model) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุธิดา สัมฤทธิ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาระดับปริญญาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาระบบ "Mentoring System" หรือการให้คำปรึกษานักศึกษาแพทย์แนวใหม่ เพื่อใช้ในการดูแลและบ่มเพาะนักศึกษาแพทย์จนสามารถสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ โดยการเรียนรู้จากอาจารย์แพทย์ต้นแบบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุธิดา กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกแบบระบบ "Mentoring System" ขึ้น เพื่อใช้สำหรับการจัดให้อาจารย์แพทย์ได้ดูแลกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่อยู่ในชั้นปีเดียวกัน ในอัตราส่วนนักศึกษาแพทย์ 5 คนต่อ อาจารย์แพทย์ 1 คน ต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 - 6 โดยจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายที่ทำให้ได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้มากกว่า ปัญหาที่พบในนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ที่ขอเข้ารับคำปรึกษาเกิดจากการที่ต้องทุ่มเทอย่างหนักในการเรียน เพื่อให้สามารถสำเร็จเป็นแพทย์ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่พึ่งของประชาชนยามเจ็บไข้  จนบางเวลาอาจเกิดความรู้สึกท้อหรือเกิดภาวะหมดไฟ (burnout) ซึ่งกิจกรรมในระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยเสริมแรงจูงใจและเพิ่มโอกาสการเรียนรู้จากอาจารย์แพทย์ที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนนั้น จะช่วยทำให้นักศึกษาแพทย์เกิดความเข้าใจในวิชาชีพแพทย์ ตลอดจนตระหนักในหน้าที่ของการเป็น "แพทย์ที่ดี" เพื่อรับใช้สังคมได้ต่อไป ซึ่งในการเรียนแพทย์ช่วง Pre-Clinic ปีที่ 2 อาจารย์แพทย์จะเริ่มพานักศึกษาแพทย์ไปรู้จักผู้ป่วย เพื่อเริ่มปลูกฝังบทบาทของการเป็นแพทย์ที่ดี ฝึกการสื่อสาร และฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจทั้งจากคำพูดและการแสดงออกของผู้ป่วย และเรียนรู้ถึงวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อผู้ป่วย โดยการดูจากอาจารย์แพทย์เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นการบ่มเพาะนักศึกษาแพทย์ให้สามารถเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศึกษาจนมีความรู้ทางการแพทย์ในระดับสูงแต่จะค่อยๆ หล่อหลอมนักศึกษาแพทย์ให้ได้เรียนรู้ด้วยตนเองในชั้นปีต้นๆ ว่าแพทย์ที่ดีควรเป็นเช่นไร และจะต้องพบกับอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากอาจารย์แพทย์ต้นแบบ  จากผลงานทางการศึกษาดังกล่าวส่งผลให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุธิดา สัมฤทธิ์ ได้รับรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ประจำปี2564 จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) เมื่อเร็วๆนี้ โดยได้มีการมอบโล่รางวัลแก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันส่งเสริมอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ประจำปี 2564 ด้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุธิดา สัมฤทธิ์ ยังคงศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาขยายผลการใช้ระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตแพทย์ที่สมบูรณ์และสามารถเป็นต้นแบบได้ต่อไปในอนาคต  ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล