ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ฯที่ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานเฟดและรมว.คลังสหรัฐฯ และจากข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด
นอกจากนี้เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนก.พ. ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชียในภาพรวม ในวันศุกร์ (26 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.08 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 มี.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 มี.ค.-2 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.พ.ของธปท. สถานการณ์โควิด 19 และประเด็นของเรื่องวัคซีนทั่วโลก รวมถึงทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกันด้วยเช่นกัน