เมื่อวันที่ 28 มี.ค.นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของกัญชาและกัญชง ที่อนุญาตให้ใช้ได้โดยไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ ว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ได้ระบุว่า กัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา และกัญชง อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพดให้โทษในประเภทที่ 5 ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชงและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
ในโอกาสนี้ โฆษกรัฐบาลได้ให้แนวทางแก่ผู้สนใจปลูกกัญชา และกัญชง ดังนี้ กรณีกัญชากฎหมายไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้ ผู้สนใจต้อง รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชา กรณีกัญชงสามารถยื่นขออนุญาตปลูก ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดกัญชงให้นำเข้ามาเพื่อใช้ในการปลูกเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดย อย. กำลังดำเนินการประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำข้อมูลทางวิชาการการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมและพิจารณาจัดตั้งตลาดกลางกัญชา กัญชง ให้เป็นศูนย์กลางรับซื้อรองรับและกระจายผลผลิตกัญชา กัญชงจากเกษตรกรรายย่อย ส่งไปยังภาคอุตสาหกรรมต่อไป
อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลย้ำให้ประชาชนดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง เพราะหากปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท