ทีเส็บเปิดตัวโครงการ MICE Winnovation ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีจัดงานไมซ์ครบวงจร จับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการไมซ์และผู้ให้บริการนวัตกรรมผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการนวัตกรรม, เวทีเจรจาธุรกิจ, แพคเกจสนับสนุนเงินทุน และกิจกรรมเวิร์คชอปให้ความรู้ ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ไทยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก้ปัญหาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยุควิถีใหม่ โดย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทางทีเส็บมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านโครงการ Thailand’s MICE Startup อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2561 โดยให้ความรู้ และสนับสนุนสตาร์ทอัพ จนถึงปี 2563 ,uนวัตกรรม และเทคโนโลยีส่งเสริมการจัดงานไมซ์จากโครงการ Thailand’s MICE Startup ที่สามารถจับคู่แก้ปัญหาพร้อมทั้งยกระดับการจัดงานให้กับผู้ประกอบการไมซ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้วจำนวน 5 คู่ ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบว่า แม้เวลานี้จะเริ่มมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีไมซ์ที่น่าสนใจ แต่ผู้ประกอบการไมซ์ยังขาดการสนับสนุนอีกหลายปัจจัย เช่น แหล่งรวบรวมข้อมูลด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการจัดงานไมซ์ที่เป็นรูปธรรม และเงินทุนในการนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ดังนั้นในปีนี้จึงมุ่งสานต่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานให้ผู้ประกอบการได้จริงในช่วงยุควิถึใหม่ ด้วยการต่อยอดพัฒนาโครงการ MICE Winnovation ขึ้น โดยสนับสนุนผู้ประกอบการแบบครบวงจรในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์จริงตอบโจทย์แต่ละธุรกิจและองค์กร ทั้งการจัดทำแหล่งรวบรวมข้อมูล การสนับสนุนเงินทุนด้านการตลาด การจัดหาเวทีพบปะเจรจาธุรกิจ และการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานจริง สำหรับโครงการ MICE Winnovation หวังที่จะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา และพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไมซ์ได้ตรงใจและเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันในเวทีระดับสากลได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันการสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ของไทยให้มีความสามารถในการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมธุรกิจไมซ์อีกด้วย ทั้งนี้ โครงการ MICE Winnovation ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ดังนี้ 1. MICE Innovation Catalog เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ที่สามารถแก้ปัญหาหรือต่อยอดการทำงานให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีการจัดแบ่งหมวดหมู่นวัตกรรมที่จะใช้งานครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มงาน การบริหารจัดการระหว่างงาน และการทำกิจกรรมต่างๆหลังการจัดงาน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://innocatalog.tceb.or.th/ เพื่อเลือกหานวัตกรรมและบริการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจหรือการจัดงานด้านต่างๆ ซึ่งสามารถติดต่อผู้ให้บริการนวัตกรรมได้โดยตรง 2. Technomart กิจกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและแสดงศักยภาพของผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ผ่านการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) และการนำเสนอผลงาน บริการต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการไมซ์ด้านต่างๆ ในทุกภูมิภาค ส่วน 3. Inno-Voucher มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดงานโดยจับคู่กับผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ผ่าน MICE Innovation Catalog เพื่อขอรับการสนับสนุนจากทีเส็บ ในรูปแบบคูปองนวัตกรรม โดยแบ่งการสนับสนุนให้กับผู้จัดงานเป็น 4 แบบคือ Tech Max สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ต้องมีพื้นที่จัดงานไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร ภายใต้งบสนับสนุนไม่เกิน 100,000 บาท Convene+ สนับสนุนการใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มในการช่วยการจัดประชุมนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ให้งบสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท New Norm Support สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ โดยมีพื้นที่จัดงานไม่น้อยกว่า 800 ตารางเมตร ด้วยงบสนับสนุนไม่เกิน 200,000 บาท N2N tech Savvy สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการจัดงานเทศกาล มีกำหนดจัดงานอย่างน้อย 2 วัน และผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 1,000 คน ภายใต้งบสนับสนุนสูงสุด 500,000 บาท นอกจากนั้นยังมี Hero Technology แพ็กเกจ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนที่เป็นตัวช่วยในภาวะวิกฤต (Crisis support) เพื่อช่วยลดจำนวนของการเลื่อนและการยกเลิกการจัดงาน ซึ่งมีรูปแบบในการสนับสนุน คือ Virtual / Hybrid Event Solutions และ Crowd Management Technology โดยทั้งหมดสามารถขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 กันยายน 2564 ขณะที่ 4. Digital Literacy of MICE ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในหัวข้อที่น่าสนใจกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการพูดคุยและกิจกรรมเวิร์คชอปทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการจัดทำ Podcast ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ตั้งแต่พื้นฐานว่าอุตสาหกรรมไมซ์คืออะไรไปจนถึงความรู้ด้านการตลาดดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ที่จัดขึ้นทุกไตรมาสตลอดปี 2564 อย่างไรก็ตาม นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ทางทีเส็บหวังที่จะให้โครงการ MICE Winnovation ที่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากพันธมิตรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) และสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) เข้าไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไมซ์ไทยและผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ในระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่เทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากขึ้นในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจและสังคมโลก